ทวี สุรฤทธิกุล
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยยึดแนวปฏิรูปมากกว่าแนวปฏิวัติ
คำกราบบังคมทูลของคณะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางใน พ.ศ. 2428 มีสาระสำคัญที่ต้องการจะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบฝรั่ง คือให้มีรัฐสภา มีผู้แทนราษฎร และให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัชกาลที่ 5 แต่เดิมพระองค์ก็อยู่ในคนกลุ่มนี้ ที่เรียกกันว่า “สยามหนุ่ม” ที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัย แต่ครั้นพระองค์ขึ้นครองราช พระองค์ต้องพยายามประสานผู้คนในกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการที่ละมุนละม่อม ที่ต้องใช้เวลาแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่อาจจะเรียกได้ว่า “ปฏิรูป” นั่นเอง ดังนั้นในข้อเสนอของคณะสยามหนุ่มดังกล่าว พระองค์ก็ไม่ได้ทัดทาน แต่ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า คงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ภายใต้พระราโชบายที่ว่า “เตรียมราษฎรให้พร้อม”
ตลอดรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของระบบราชการและระบบการศึกษา ซึ่งก็เป็นเรื่อง “เตรียมราษฎรให้พร้อม” นั่นเอง แต่ที่พระองค์ทรงทำยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “การเตรียมผู้ปกครอง” ซึ่งก็ได้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางทั้งหลายนั่นเอง โดยทรงให้ผู้คนเหล่านี้ทำงานแบบ “ลงพื้นที่” โดยการกระจายพระราชอำนาจทางการปกครองและการบริหารราชการออกไปในส่วนภูมิภาค ที่เรียกว่า “มณฑลเทศาภิบาล” แล้วให้พระบรมวงศานุวงศ์กับขุนนางในส่วนกลางออกไปปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด ในส่วนกลางที่พระองค์เองนั้นก็ทรงให้มีระบบ “ที่ปรึกษาราชการในพระองค์” ใช้การบริหารแบบปรึกษาหารือ และให้ชนชั้นปกครองมีส่วนร่วมในการบริหารราชการมากขึ้น ที่สำคัญทรงลงไปคลุกคลีกับประชาชน (แม้การเสด็จประพาสต้นหรือการเสด็จไปตามท้องถิ่น จะมีพระราชประสงค์เพื่อการฟื้นฟูพระพลานามัยเป็นหลัก) ด้วยการเสด็จประพาสไปตามท้องถิ่น ได้ทรงแสดงให้เห็น “มิติใหม่” ทางการปกครอง ที่พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ห่างเหินกัน ในฐานะ “เทวดากับมนุษย์” มาหลายร้อยปี มาสู่ความเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” ในเวลาต่อมา
รัชกาลที่ 6 และ 7 ก็พยายามที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระราชบิดา ด้วยการพัฒนาทั้งผู้ปกครองและราษฎรให้เข้าสู่การปกครองยุคใหม่ ในแนวที่จะลดพระราชอำนาจนั้นลง แล้วขยายการมีส่วนร่วมไปในประชาชนทุกกลุ่ม ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เมืองจำลอง “ดุสิตธานี” เป็นส่วนหนึ่งในการให้การเรียนรู้แก่ข้าราชการและข้าราชบริพารให้คุ้นเคยกับการปกครองในระบอบรัฐสภา การประกาศใช้ระบบการศึกษาภาคบังคับและตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เพื่อให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้นจนถึงระดับสูงสุด ในขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงให้มีองคมนตรีเพื่อช่วยบริหารราชการ และจัดให้มีกระบวนการทำงานคล้ายๆ “สภาขุนนาง” และเตรียมร่างรัฐธรรมนูญสำหรับลดพระราชอำนาจลงไปอีก รวมถึงเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองในระบอบรัฐสภา ด้วยการจำกัดอำนาจของพระองค์เอง
รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราโชบายว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญ “ฉบับจำกัดพระราชอำนาจ” ในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 แต่ยังไม่ทันที่จะได้ประกาศใช้ (ในตำราประวัติศาสตร์บอกว่า จะประกาศใช้ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็น “วันจักรี” หรือวันสถาปนากรุงเทพมหานคร แต่ต้องเอาไปปรับแก้ก่อนตามพระราชวินิจฉัย เนื่องจากไม่ได้ลดพระราชอำนาจตามพระราชประสงค์) คณะราษฎรก็ชิงยึดอำนาจเสียก่อนในวันที่ 24 มิถุนายนปีนั้นเอง โดยไม่ได้มีการเสียเลือดเนื้อหรือเกิดสงครามรุนแรงแต่อย่างใด นั่นก็เป็นการยืนยันว่ารัชกาลที่ 7 ก็มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่แล้ว โดยทรงยินยอมที่จะลดพระราชฐานะมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยการรับรองและพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับคณะราษฎรในวันที่ 10 ธันวาคม ปีนั้นเอง (ที่ต่อมาให้ถือว่าวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี คือ “วันรัฐธรรมนูญ”) แต่เมื่อคณะราษฎรได้ปกครองต่อมาก็ทำให้พระองค์เห็นว่า “ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” ที่สุดพระองค์ก็ประกาศสละราชสมบัติ พร้อมกับมีพระราชหัตถเลขา “น้อยพระทัย” ที่คณะราษฎรได้บิดเบือนรูปแบบของการปกครอง โดยทรงเชื่อว่าคณะราษฎรนั้นจะพาประเทศไทยไปในแนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยไม่เพียงแต่จะล้มล้างระบอบกษัตริย์ แต่ยังล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนั้นด้วย เพราะคณะราษฎร “ไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
ข้อสังเกตหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องกับรัชกาลที่ 7 ก็คือ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้กลายเป็นกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครอง ตัวคณะผู้ก่อการก็ไม่ต่างอะไรกับ “โปลิตบูโร” หรือกรรมการบริหารในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ควบคุมการปกครองการปกครองประเทศทั้งหมด ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ก็ห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง อันเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบรัฐสภา แต่คณะราษฎรเองได้รวบอำนาจในส่วนนี้ที่จะแต่งตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งให้ระบบราชการควบคุมการเลือกตั้งให้มีผู้แทนราษฎรแบบทางอ้อมนั้นขึ้น ซึ่งนักรัฐศาสตร์เรียกระบอบการเมืองแบบนี้ว่า “เบ็ดเสร็จนิยม” (Totalitarianisms) คือระบอบการปกครองที่คณะผู้ปกครองจัดการรวบอำนาจทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งก็คือคณะผู้ปกครองนั่นเอง
คณะราษฎรแถลงไว้ในแถลงการณ์ฉบับแรกในวันที่ “ล้มเจ้า” เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้นว่า จะนำประเทศไทยสู่สังคมอารยะ อย่างที่เรียกว่า “โลกพระศรีอาริย์” นั้นให้ได้ ซึ่งในโลกพระศรีอาริย์ตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาพุทธ (แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ตามพระราชนิพนธ์ของพญาลิไทในเรื่อง “ไตรภูมิกถา” ที่ได้กล่าวถึงโลกพระศรีอาริย์นั้นคือโลกของผู้สั่งสมบุญ จะมีความอิ่มทิพย์ ไม่มีความทุกข์ และนึกอะไรก็จะได้สมตามปรารถนา) จะมีต้นไม้ต้นหนึ่งชื่อ “ต้นกัลปพฤกษ์” ที่ผู้คนสามารถไปขอสิ่งต่างๆ ที่ต้องการได้ ทว่าสิ่งที่คณะราษฎรให้แก่คนไทยกลับไม่ใช่ต้นกัลปพฤกษ์ ตามคำอวดอ้างที่ว่าจะนำโลกพระศรีอาริย์มาสู่สังคมไทยนั้น แต่กลับกลายเป็น “ต้นอุตพิด” ที่นำความ “เน่าเหม็น” มาสู่สังคมไทยมาถึงทุกวันนี้
ระบอบรัฐสภาของไทยจึงเป็น “มรดกบาป” ที่คนบางกลุ่มได้ทิ้งไว้