เสือตัวที่ 6
ด้วยบริบทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ เรียกได้ว่า มีความต่างในความเหมือน กล่าวคือ เมื่อดูโดยทั่วๆ ไปแล้ว เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดปรากฏการณ์ให้เห็น มีความเหมือนๆ กัน หรือใกล้เคียงกันมาก หากแต่เมื่อพิจารณาอย่างลุ่มลึกแล้ว จะพบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีความแตกต่างหลากหลายมากพอสมควร ด้วยพื้นที่แห่งนี้มีการสืบทอดประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ประกอบกับได้มีขบวนการต่างๆ พยายามสอดแทรก แต่งเติมให้พื้นที่ในชุมชนแต่ละแห่ง มีอัตลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนไป ดังนั้น รูปแบบการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ จึงต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ เป็นระบบ และมีความแนบเนียนมากเป็นพิเศษ โดยใช้กิจกรรมในการสร้างโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความหวาดระแวงของคนในชุมชน และกิจกรรมดังกล่าวนั้น ก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่พี่น้องทั่วโลกรู้จักและให้การยอมรับกันเป็นอย่างดี นั่นคือ กิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยนั่นเอง
และการเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ยังเป็นกิจกรรมที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจรับรู้ของพี่น้องในพื้นที่ปลายด้ามขวานได้ว่า เป็นกิจกรรมของรัฐที่มีเจตนาอันบริสุทธิ์ เพื่อมุ่งหวังให้คนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทัดเทียมคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าการปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ตามแนวคิดแบบทหารสมัยโบราณ ที่รังแต่จะสร้างความหวาดระแวงและต่อต้านกิจกรรมในลักษณะนั้นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะไม่สามารถที่จะเข้าถึงหัวใจคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อันการเข้าถึงหัวใจของคนในพื้นที่นั้น จะเป็นประตูไปสู่โอกาสในการทำความเข้าใจระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ตามบริบทและวิถีชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากการศึกษา พบว่า รูปแบบที่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักนั้น มีความเหมาะสมในการดำเนินการในพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ทั้งที่เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงที่ส่งเสริมโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือจะเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในชุมชนเองอย่างมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ อันเนื่องมาจากอุปสรรคในด้านสถานการณ์ความไม่สงบในชุมชนหรือพื้นที่โดยรอบชุมชน ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีโอกาสในการเข้าไปส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการขาดการเข้าถึงชุมชนไม่ว่าจะกรณีใดๆ อันส่งผลให้ประชาชนในชุมชนนั้นๆ ยังไม่ให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ผ่านการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบ โดยต้องคำนึงถึงและนำปัจจัยที่เอื้ออำนวยในการเข้าถึงประชาชนผ่านกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก มาใช้ในการดำเนินการเป็นสำคัญ
โดยมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีขั้นตอนสำคัญ คือ 1) ปรับทุกข์ผูกมิตร ซึ่งการทำความเข้าใจดังกล่าว จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้มากขึ้น แต่จะเข้าถึง จนชนะใจประชาชนได้ก็ต้องเริ่มจากการเข้าหาประชาชนด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่ในฐานะที่เหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า แต่เข้าหาในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิดของกันและกัน สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการดังกล่าว ก็คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ไม่ใช่การพูดฝ่ายเดียว หรือสั่งมาจากเบื้องบนแต่ใช้วิธีการปรึกษาหารือ รับทราบปัญหาในทุกเรื่องของคนในชุมชนด้วยความตั้งใจ การปรับสุข ด้วยการสนทนา สอบถามสารทุกข์สุกดิบโดยทั่วไปของการดำรงชีวิตของประชาชน โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วช่วยคลี่คลายปัญหาอันเป็นความทุกข์เหล่านั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถการผูกมิตร ด้วยการสานใจด้วยความจริงใจ ใช้ท่วงทีวาจาที่เป็นมิตรกับประชาชน 2) จุดประกาย ด้วยการชักนำ ปลุกให้คนในชุมชนตื่นตัว ให้เขาเห็นช่องทางในการทำมาหากิน โดยเริ่มจากผู้นำชุมชน จากกลุ่มเล็ก ขยายเป็นกลุ่มใหญ่ให้ประชาชนในชุมชนร่วมสร้างอนาคตที่สดใสและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามความถนัด หรือสามารถ และความชำนาญพิเศษของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดความคาดหวังในอนาคตที่ดี สู่ความต้องการที่จะบรรลุความคาดหวังนั้น การจุดประกาย จึงเป็นการชี้นำจุดเด่น หรือจุดแข็งที่แต่ละชุมชนมีต้นทุนอยู่แต่เดิม แล้วชี้ช่องให้ประชาชนเข้าใจรับรู้จุดเด่น หรือจุดแข็งที่ตนเองมี โดยชักจูงให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม
3) นำร่อง คือการทำให้เกิดความเชื่อมั่นในพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ จะต้องลงมือกระทำให้เห็นผลเป็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจดำเนินการเอง ด้วยการลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง หรือการจัดตั้งกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในชุมชน เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้การสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ ทุนทรัพย์ และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อให้กิจกรรมนั้น เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นว่า กิจกรรมนั้นสามารถปฏิบัติได้จริง และมีผลบังเกิดจริง ซึ่งกิจกรรมนั้น ต้องเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน ทั้งวัตถุดิบที่มี จุดเด่น และจุดแข็งของชุมชนด้วย 4) รวมกลุ่มกิจกรรมตามความต้องการ ซึ่งพลังที่เกิดจากการรวมกลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมของคนในชุมชนนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของกิจกรรมที่เข้มแข็ง และยั่งยืน โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามความต้องการของคนในชุมชน และได้รับการให้ความรู้ในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ตามหลักการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
นอกจากจะเป็นการสนับสนุนเรื่องกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาชุมชนแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าถึงคนในชุมชนอย่างมีเหตุและมีผล อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นโอกาสในการสะสมบ่มเพาะความคุ้นเคย และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของคนของรัฐและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ทั้งยังสามารถขยายผลจากเรื่องหนึ่งไปสู่เรื่องอื่นๆ สู่การเข้าถึงพี่น้องประชาชนผ่านกิจกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยได้อย่างมีนัยสำคัญในที่สุด