นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดหดหู่เป็นอย่างมาก เมื่อมีคลิปวิดีโอเปิดเผยพฤติกรรมของครูพี่เลี้ยงเด็กอนุบาลในโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำร้ายลูกศิษย์ ทั้งจิกผม ผลักจนล้ม จนเด็กหวาดผวา และไม่อยากไปโรงเรียน ทั้งที่ขณะเกิดเหตุมีครูอยู่ในห้องอีก 2-3 คน แต่ไม่มีใครเข้าไปห้ามปรามแต่อย่างใด ล่าสุดทางโรงเรียนเอกชนดังกล่าวได้ให้ผู้ก่อเหตุพ้นสภาพบุคลากรทันที จากการทำร้ายเด็กนักเรียนในห้องเรียนแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ก่อเหตุจบการศึกษาเพียงแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ทางผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวต้องรับผิดชอบ กรณีการคัดกรองบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก ด้วยจะต้องตรวจตราดูแล และมีวิธีทดสอบ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการเอง รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโรงเรียนเอกชน และสถานรับเลี้ยงเด็กในระดับชุมชนเอง จะต้องมีวิธีการทดสอบสภาพทางจิตต่อบุคคลากรทางการศึกษา ไม่เฉพาะครู เพราะเป็นผู้ที่ทำงานดูแลใกลชิดกับเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ทั้งเรื่องของการทำร้าย และการล่วงละเมิด รวมทั้งกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่างๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 3-5 ปี การกระทำรุนแรงต่อเด็กหรือการลงโทษในวิธีการที่ไม่เหมาะสม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะที่ผู้ปกครองเอง จะต้องมีวิธีการในการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการติดกล้องวงจรปิดที่สามารถดูได้ตลอดเวลา เพื่อครูและพี่เลี้ยงผู้ดูแลจะได้ระวังตัว รวมทั้งให้เขียนรายงานพฤติกรรมของเด็กตลอดเวลา คอลัมน์ผู้หญิงพลังบวก หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยรศ.วันทนา จันทพันธ์ อดีตอนุกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ วุฒิสภา (30 สิงหาคม 2561) ระบุตอนหนึ่งว่า “หลากหลายพฤติกรรมของคนที่มีความรุนแรงอันเกิดจากสันดานดิบ (Raw Instincts) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการมีชีวิตรอดทำให้ต้องต่อสู้ ก้าวร้าว เห็นแก่ตัว (คำว่าสันดานคือ พื้นเพด้านจิตใจที่ได้รับการอบรมมาเป็นเวลาช้านาน อาจจะหลายภพหลายชาติจะมีแนวโน้มไปทางดีหรือเสียก็ได้ :อ.เปลื้อง ณ นคร) เมื่อสันดานดิบไม่ได้รับการขัดเกลาและชีวิตที่อาจเคยถูกข่มเหงรังแกทำให้เกิดปมในใจที่เก็บกด เมื่อมีโอกาสจะแสดงความก้าวร้าวกับผู้ที่อ่อนแอกว่าเสมอ ไม่ได้คำนึงว่าตนเองจะอยู่ในสถานะใด” อย่างไรก็ตาม แม้กรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นกรณีของครูพี่เลี้ยง แต่ก็สะท้อนเห็นให้ว่า ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ เพราะคุณสมบัตของคนที่เป็นครูจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.มีจิตวิญญาณ 2.มีความรู้ จิตวิทยา และวิธีการสอน 3.ความรับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม สุดท้ายความเป็น “ครู”อยู่ที่ “จิตสำนึก” เพราะแม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นด็อกเตอร์แต่หากขาดจิตสำนึกของความเป็นครู ก็ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากความเป็นครู ก็เปรียบเหมือนความเป็นแม่ ที่ต้องมีความห่วงใยลูก ให้ความรักความดูแลและอาทร ไม่ใช่ให้กำเนิดแล้วทิ้งไปไม่ดูแล