ประเทศไทยกำลังจะมีองค์กรใหม่เอี่ยมอีกองค์กรหนึ่ง คือ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ดูตามหลักการก็เห็นความปรารถนาดี แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้ายก็น่ากังวลว่า องค์กรนี้จะกลายเป็น “เหลือบฝูงใหม่” หรือการตั้งคนของพวกตนกลุ่มเดียวเข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจสำคัญ ๆ ของประเทศไทยทั้งสิบสองแห่ง ข่าวเรื่องการก่อตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติมีความคืบหน้าไปมาก หลังจากเริ่มปั้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
อีกไม่นานจะสามารถจัดตั้งบรรษัทแห่งชาติ หรือโฮลดิ้ง คอมปะนี เพื่อเป็นองค์กรเจ้าของถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 12 แห่งแทนกระทรวงการคลังได้
โดยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้งจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลภายใต้การกำกับของรัฐบาลแต่ไม่ใช่ส่วนราชการ โดยมีทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และจะกำหนดไว้ ไม่ให้มีการนำหุ้นออกขายไม่ว่ากรณีใดๆ เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ จะกำหนดให้บรรษัทฯ มีค่าบริหารจัดการไม่เกิน 0.05% ของสินทรัพย์ โดยประเมินสินทรัพย์รวมเบื้องต้นที่ 6 ล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายจึงไม่เกินปีละ 3,000 ล้านบาท และเพื่อความโปร่งใสจะต้องมีการจัดทำรายงานค่าใช้จ่ายแต่ละปีเสนอคณะรัฐมนตรีและเปิดเผยต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะออกกฎกระทรวงเพื่อโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท 12 แห่งให้กับบรรษัทฯ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะการคลังของรัฐบาลแต่อย่างใด และเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน บรรษัทฯ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ในร่างกฎหมายที่กำหนดให้ "บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ" หรือ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง เข้ามีบทบาทถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง แทนกระทรวงการคลัง หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ การให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นในส่วนของรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ให้กับ บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย ปตท. , การบินไทย, ท่าอากาศยานไทย, อสมท, ธนาคารกรุงไทย, ทีโอที ,กสท.โทรคมนาคม, ขนส่ง จำกัด,ไปรษณีย์ไทย,ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์,อู่กรุงเทพ จำกัด และสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว แต่ในหลักการความหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะโครงสร้างของซุปเปอร์โฮลดิ้ง มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100 เปอร์เซนต์แต่เพียงผู้เดียว จึงไม่มีโอกาสรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะเปลี่ยนสถานะ เพราะเป้าหมายหลักคือการให้ซุปเปอร์โฮลดิ้งเข้ามากำกับดูแลทิศทางของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
ที่สำคัญเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาในส่วนของเหตุผลที่ระบุไว้ชัดเจนถึงเป้าหมายการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ที่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่จำเป็นต้องคงสถานนะ ความเป็นรัฐวิสาหกิจของหน่วยงานภายใต้กำกับไว้ สรุปว่า การเกิดขึ้นของซุปเปอร์โฮลดิ้ง หรือ บรรษัทรัฐวิสาหกิจ คือ ความตั้งใจในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของไทย ไม่ใช่การแปรรูป
อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนในอดีต เราเคยเห็นว่า การตั้งองค์กรซ้อนองค์กร การมีทีมบริหารซ้อนทีมบริหาร โดยที่ทีมผู้บริหารมิได้มีความซื่อสัตย์ต่อชาติและประชาชน ทีมผู้บริหารด้อยประสิทธิภาพ ก็ไม่อาจแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจไทยได้ กลับเหมือนเพิ่มฝูงเหลือบตัวใหญ่ขึ้นขึ้นอีกฝูงหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออำนาจรัฐกลับไปอยู่ในมือของนักการเมือง