วันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ และเป็นวันที่บรรดาข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนหลายแห่งต้องเกษียณอายุจากหน้าที่การงานที่เคยปฏิบัติมาจนถึงอายุ 55 ปี 60 ปี 65 ปีและ 70 ปี แม้ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณนี้ จะมีสภาพร่างกาย จิตใจและมันสมองที่ยังมีศักยภาพ เรียกว่าไม่ได้ร่วงโรยไปตามวัย ทำให้สามารถก้าวไปทำงานอื่นๆ หลังเกษียณแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และครูบาอาจารย์พิเศษต่างๆ อีกทั้งแม้เกษียณแล้ว แต่หากยังสมัยดำรงตำแหน่ง สร้างผลงาน คุณงามความดี บารมีไว้มาก มีคนนับหน้าถือตา ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องร่วมรุ่น สถาบันและการอบรมต่างๆ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูง หรือบทบาทในองค์กรต่างๆ ชีวิตของผู้เกษียณก็อาจจะไม่เงียบเหงานัก พอจะมีคนไปมาหาสู่พึ่งพาสายสัมพันธ์นั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ข้าราชการส่วนใหญ่วางเป้าหมายในชีวิตก่อนเกษียณ นอกจากแผนการเงิน สวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ซึ่งเป็นความต้องการทั่วไป คือการได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นท็อปขององค์กร แผนก และฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ แม้จะเพียงระยะเวลาสั้น แค่เพียง 1 ปีก็ตาม เราจึงได้เห็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรบางองค์กร ที่ไม่เพียงการวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งทั่วไป หากแต่มีการวางแผนการโค่นล้มตำแหน่งกันจนกลายเป็นสงครามภายในองค์กรนั้นๆ บ้างก็จบลงด้วยชัยชนะ บ้างก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ และถูกเอาคืน หากแต่บางคนที่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้วิ่งเต้น และไม่เคยคิดมาก่อนที่จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งสูงสุด กลับเหมือน “บุญหล่นทับ”ชนิดที่ไม่รู้ตัวเลย เรียกว่า “คนคำนวณ หรือจะสู้ฟ้าลิขิต” ก็มีให้เห็น เป็นศาสตร์และศิลป์ ในวิถีชีวิตข้าราชการ ที่เส้นทางของพวกเขาเหล่านั้น ล้วนเป็นอุทาหรณ์สอนใจ “ความสำเร็จทางโลกนั้น มิใช่สรณะที่แท้ ไม่สามารถทำให้เกิดสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะมันมีขึ้นมีลง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ ใครที่เอาชีวิตและความสุข ผูกติดกับความสำเร็จทางโลก (หรือโลกธรรม) ก็ย่อมลงเอยด้วยความทุกข์ เพราะลาภ ยศ สุข สรรเสริญ นั้น มาคู่กับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ประสบทุกข์ และพบกับคำนินทา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (พระไพศาล วิสาโล : https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/55978/-dhart-)