แสงไทย เค้าภูไทย ภาพคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์(ชินวัตร) กราบเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเข้าเฝ้าฯถวายรถรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ถูกนำไปตีความกันใหญ่โต ยิ่งต่อมาการลาออกจากตำแหน่งของผู้บริหารเพื่อไทยยกชุด ส่งสัญญาณการ reset พรรคนำไปสู่ bipartisan รัฐบาลแห่งชาติ Bipartisan มาจากคำสองคำในภาษาละตินผสมกัน bi=2 , partisan= partis คือ 2 ฝ่าย 2 ขั้ว วันนี้ประเทศไทยกำลังจะเกิดการปรองดองระหว่างการเมือง 2 ขั้วที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนถึงอาจนำไปสู่สถานการณ์วิกฤตินองเลือดดังที่เคยเกิดในอดีต ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ชินวัตร)รองประธานกรรมการมูลนิธิไทยคม เข้าเฝ้าฯถวายรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา มองกันว่า นี่คือการปรับเปลี่ยนทิศทางของพรรคเพื่อไทยแบบ 360 องศาโดยคุณหญิงพจมานเป็น game changer แกนเปลี่ยนเกม เพราะหลังการเข้าเฝ้าฯ พรรคเพื่อไทยก็ปรับเปลี่ยนกันโกลาหล จนดูคล้ายพรรคแตกโดยหัวหน้าพรรคลาออกพร้อมกับคณะกรรมการบริหารยกชุด อันที่จริงไม่ใช่พรรคแตก หากแต่เป็นการ reset พรรค เปิดโอกาสให้ผู้บริหารพรรคคนใหม่(อาจเป็นคนเก่ากลับมา)ได้เดินไปตามเส้นทางใหม่ ที่น่าจะเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การเมืองโฉมหน้าใหม่ สัญญาณการเปลี่ยนแปลงท่าทีและบทบาทของเพื่อไทยจนนำมาสู่วันนี้นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแกนนำรัฐบาล ที่ผลออกมาว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุด โดยมี ส.ส.เพื่อไทยฝืนมติพรรคยกมือสนับสนุนถึง 6 เสียง ต่อมาคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร ฟอกเงินแบงก์กรุงไทย ที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งในวันศาลอ่านคำพิพากษา คุณหญิงพจมานได้อยู่เคียงข้างบุตรชายด้วย เป็นการ “ต่างตอบแทน” กันหรือไม่ ? ปีก่อนหน้านั้น ทักษิณ ชินวัตร เคยแขวะพลเอกประวิตร เรื่องว่าได้มายืนเกาะขอบโต๊ะของเขาครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่งผบ.ทบ. และยังเคยสัพยอกกันเรื่องถั่งเช่า ความสัมพันธ์ดังกล่าว เคยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า พวกเขายังมีการติดต่อสัมพันธ์กันอยู่หรือไม่ ? เมื่อพลเอกประวิตร เข้ามากุมบังเหียนพปชร.มีการมองว่า เป็นการดับความวุ่นวายภายในพรรค แต่มาถึงวันนี้ การลาออกจากตำแหน่งสำคัญภายในพท.ตั้งแต่หัวหน้าพรรคไปถึงกรรมการบริหารน่าจะเปรียบเทียบได้กับ พปชร. เมื่อพรรคแกนนำฝ่ายค้านกับพรรคแกนนำฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนคีย์แมนของพรรค การเจรจากันทุกด้านก็จะอยู่ในบรรยากาศที่ราบรื่น หากเกิดรัฐบาลแห่งชาติ แม้จะไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่เหลือเข้าร่วม พรรคฝ่ายค้านที่เหลือจะเป็นอย่างไร อาจจะเหลือพรรคก้าวไกลพรรคเดียว หรือประชาธิปัตย์ถูกเพื่อไทยเบียดไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นรายละเอียดที่ไม่สู้สำคัญนัก ที่น่าจับตาก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยอุบัติเหตุหรือด้วยหมดสมัยของรัฐบาลตามวาระ ถ้าเป็นอุบัติเหตุ ก็อาจได้นายกฯพระราชทาน ที่ตอนนี้เปิดตัวกันวับๆแวมๆแล้ว แต่ถ้าเป็นไปตามครรลองรัฐสภา จะเป็นยุบสภาฯหรือครบวาระ เลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคที่จะได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะไม่ใช่เพื่อไทย หากแต่เป็นก้าวไกล แล้วมวลชนขบวนการปลดแอก จะเป็นอย่างไร ? ก็คงจะเป็นไปตามพลอตเดิม คือเดินไปเรื่อยๆ ข้อเรียกร้องอาจจะเหลือแค่ข้อเดียวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะมีการตอบรับที่ดีจากรัฐบาลแห่งชาติ ที่มีเพื่อไทยร่วม แล้วเสื้อแดงกับ กปปส.ล่ะ ? มันถึงเวลาที่จะต้องจบในรุ่นของพวกเขาแล้ว