ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประเมินการพัฒนาประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) นับตั้งแต่ปี 2540-2563 ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 3% แต่เมื่อเจอผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐฯและจีน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจลง โดยสภาพัฒน์ประเมินจีดีพีไทยจะติดลบ 7.3% ถึงติดลบ 8% เนื่องจากประเทศไทยอาศัยรายได้จากต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เมื่อปัจจัย 2 ตัวนี้หายไป เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง รวมถึงหากประเมินจากอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ไทยยังย่ำอยู่กับที่ โดยเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 63 ประเทศ ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ระบุด้วยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบหลายส่วน อาทิ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน พร้อมทั้งการส่งออกที่ปรับตัวลดลง มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ปรับตัวลดลง จากเดิมที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากพอสมควร และอัตราการว่างงาน ที่จากเดิมอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% หรือประมาณ 400,000 คน แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มมาอีก 2% หรือประมาณ 750,000 คน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 40% เมื่อเกิดโควิด-19 หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้น เพราะรัฐต้องกู้เงินมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจคือข้อมูล สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2550-2561 แต่ปรากฏว่า จำนวนคนยากจนในปี 2560-2563 มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นมาในช่วง 3 ปีหลัง จากปัญหาหนี้สินครัวเรือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550-2563 จำนวนสะสมของหนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี แต่ข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือน จากพฤติกรรมของคนไทย พบว่ากว่า 20% เป็นการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลในการทำธุรกิจ ส่วนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย พิจารณาในส่วนของผู้ที่มีรายได้มากที่สุดแตกต่างจากผู้ที่มีรายได้น้อยสุดกว่า 20 เท่า โดยมีกลุ่มคนชนชั้นกลางอยู่ประมาณ 35% สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง รวมถึงการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พบว่าคนรวยมีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี 65.6% สูงกว่าคนจนที่มีเพียง 3.8% และยังพบว่าคนในเขตเมือง พื้นที่กรุงเทพฯ มีการเข้าถึงระบบการศึกษาได้สูงกว่าในเขตชนบทหรือนอกกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นช่องว่างที่ห่างกันกว่า 17.3 เท่า จากข้อมูลของสภาพัฒน์ เห็นได้ชัดว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาไปด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ จึงน่าเป็นห่วงและติดตามปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดอีกในระลอกที่สอง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือปัจจัยเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ที่จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในอนาคต