ทีมข่าวคิดลึก ต้องบอกว่ายุ่งเหมือนยุงตีกัน สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทั้งการเมืองในและนอกสภาที่บรรดา "แม่น้ำ" แต่ละสายต่างหันมาจับคู่เปิดศึกปะทะกันเสียเอง มิหนำซ้ำ ล่าสุด "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.กลับต้องมาเจอกับปฏิกิริยาท้าทาย จาก"ฝั่งตรงข้าม" ทั้งมวยรุ่นเล็กอย่างนักศึกษาฝั่งตรงข้ามไปจนถึง "มวยรุ่นใหญ่"อย่างนักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์การเมืองอย่างหนักหน่วง ล่าสุดยังต้องไม่ลืมว่าการบริหารจัดการนโยบายต่างๆ ภายในประเทศนั้นกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันอันเกิดจาก "ความเดือดร้อน" และ "ความคาดหวัง" ของประชาชน อย่างต่อเนื่องพร้อมกันนี้ ยังมีคำถามว่าการเดินหน้าไปตามโรดแมป ของ คสช. ด้วยการจอดป้ายสุดท้ายที่ "การเลือกตั้ง" นั้นจะมีขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะยิ่งเกิดปัญหาขึ้นทั้งภายในแม่น้ำแต่ละสายด้วยกันเอง สืบเนื่องมาจากความเห็นต่างๆ กรณีการใช้ระบบ"ไพรมารีโหวต" อันเป็นสาระที่บรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยิ่งสร้างความหวั่นไหว สร้างความไม่เชื่อมั่นในทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งแนวรบด้านความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ คสช.เองกลับต้องเผชิญหน้ากับเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นใน กทม. แม้ล่าสุดเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วก็ตาม ทว่าทีมโฆษก คสช. ยังคงออกมาเตือนประชาชนไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท ! ความวุ่นวายยังไม่ยุติลงเพียงเท่านี้ เมื่อพบว่าเวลานี้ พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ที่แม้ไม่ใช่ ฝั่งตรงข้าม คสช.เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง หากแต่สถานการณ์ยามนี้ ประชาธิปัตย์ได้แสดงจุดยืน ออกมาต้านทั้ง "ไพรมารีโหวต" รวมทั้ง "ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ประเทศ" ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ขีดเส้นให้ "รัฐบาลใหม่" ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องเดินตาม ! ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ต่างหันมาจับมือกันยืนต้านทั้งสองเรื่องร้อนโดยมิได้นัดหมาย จนทำท่าจะบานปลายยุ่งเหยิงเพราะนี่อาจกลายเป็น "แรงกดดัน" ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใด อย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ภายใต้ "ความหวัง" ของพรรคการเมืองที่พยายามหาทางดิ้นรนเอาตัวรอด จาก "บ่วง" ที่พวกเขาเชื่อว่าจะนำมาซึ่งปัญหาครั้งใหญ่ในวันหน้าสำหรับนักการเมืองกันถ้วนหน้า ! ทั้งนี้หากจับอาการของนักการเมือง ไปจนถึงสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) ที่เตรียมทิ้งเก้าอี้เพื่อลงสนามการเมือง ตามที่มีข่าวความเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้นั้น จะพบว่าทางหนึ่งเพื่อต้องการให้ คสช. "รักษาสัญญา" ที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและอีกทางหนึ่งคือการส่งสัญญาณเพื่อหยั่งกระแส ไปจนถึงการประเมินสถานการณ์การจับขั้วทางการเมือง หลังการเลือกตั้ง ในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ดี จังหวะการเดินหน้าของ คสช. นับจากนี้ เพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ทั้งศึกนอก ศึกใน ไปจนถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนกระทบกันถ้วนหน้า ล้วนแล้วแต่เป็นโอกาสที่รัฐบาล จะต้องเร่งสปีดทั้งสิ้น !