ทวี สุรฤทธิกุล
ถ้าจะปฏิรูปสถาบันอะไรสักอย่าง น่าจะเริ่มที่สถาบันรัฐสภาจะดีกว่า
รัฐสภาของไทย “บิดเบี้ยว” ไปมาก จากแนวคิดที่หวังจะมาเป็นที่ “พึ่งพิง” ของประชาชน หรือเป็น “สถาบันของประชาชน” เพราะได้กลายเป็น “สถาบันของพรรคพวก” คือมีไว้เพื่อค้ำจุนอำนาจของผู้ปกครองเท่านั้น
ในแนวคิดสากล สถาบันรัฐสภามีพัฒนาการต่างกันในหลายๆ ประเทศ แต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเป็นสถาบันที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ต่างก็ต้องมีรัฐสภาไว้เป็นที่ประชุมของตัวแทนประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น โดยในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกรัฐสภาก็จะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ส่วนในประเทศเผด็จการก็จะมาจากการแต่งตั้งและคัดสรรโดยผู้ปกครอง แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อการเชื่อมอำนาจของผู้ปกครองเข้าด้วยกันกับประชาชนนั่นเอง
ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะนำระบบรัฐสภามาใช้ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยกระแสการเมืองในประเทศไทยเองที่มีชนชั้นสูงบางกลุ่มต้องการที่จะให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าตามแบบของประเทศในยุโรป ว่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราช ก็เป็นตัวตั้งตัวตีผู้หนึ่งของกลุ่มชนชั้นสูงที่มีแนวคิดทันสมัยดังกล่าว โดยนักประวัติศาสตร์เรียกชนชั้นสูงกลุ่มนี้ว่า “ยังสยาม” (The Young Siam) หรือ “กลุ่มสยามใหม่” ที่ส่วนใหญ่เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกลุ่มขุนนางที่เติบโตร่วมกันมา ส่วนชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่งก็คือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์กับขุนนางอาวุโส ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “โอลด์สยาม” (The Old Siam) หรือ “กลุ่มสยามอนุรักษ์” ที่มีแนวคิดไม่อยากที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในแนวของฝรั่ง หรือถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง หรือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งนี้ว่ากันว่าแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้การสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มสยามใหม่นั้นด้วย เพราะพระองค์เองก็ชื่นชมฝรั่งมากๆ และทรงส่งเสริมการนำเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทยหลายอย่าง จนได้พระนามว่าเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” รวมถึงส่งเสริมให้พระราชโอรสและพระราชธิดาได้รับการศึกษาแบบฝรั่ง และเรียนรู้ภาษาอังกฤษ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนประเพณีนิยมในราชสำนักบางอย่าง เป็นต้นว่า การเข้าเฝ้าฯ และการแต่งกาย ให้เป็นแบบฝรั่งนั้นด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งของแนวคิดที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการปกครองก็คือ การป้องกันการคุกคามจากประเทศตะวันตก ซึ่งมีฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นมหาอำนาจ “นักล่าอาณานิคม” กำลังแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาคเอเซีย หลายประเทศถูกยึดครองด้วยเหตุผลว่า “ป่าเถื่อนและล้าสมัย” และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ไทยได้เสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษไปทีละส่วนๆ จนเกิดความกังวลว่าอาจจะถูกยึดไปทั้งประเทศ ดังนั้นชนชั้นสูงโดยเฉพาะกลุ่มสยามใหม่นั้น จึงมีแนวคิดที่จะต้อง “มีการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่” ซึ่งในทางการเมืองก็คือการปกครองที่มีรัฐสภาเป็นสถาบันหลัก และการปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัย ที่รวมถึงการควบคุมอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ อย่างที่เรียกกันมาตั้งแต่สมัยนั้นว่า “คอนสติติวชั่น โมนากี้” (Constitution Monarchy)
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชใน พ.ศ. 2411 ในช่วงแรกทรงต้องจัดการกับการเมืองภายในพระราชสำนัก โดยเฉพาะกับขุนนางตระกูลบุนนาค ที่นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่ขุนนางตระกูลนี้มีอำนาจเคียงคู่กับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และตอนที่รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราช ด้วยเหตุที่ยังทรงพระเยาว์ ในพระชันษา 15 ปี จึงยังต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯก็คือผู้ดำรงตำแหน่งนี้ อีกทั้งเชื่อกันว่าท่านนี้ก็คือหัวหน้าของกลุ่มสยามอนุรักษ์ ที่คอยทัดทานไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปเป็นอย่างฝรั่ง จนเมื่อรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชอย่างเต็มพระองค์ในอีก 5 ปีต่อมา (พ.ศ. 2416) ก็ทรงส่งเสริมให้บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอ(น้องชาย)ที่มีอยู่หลายพระองค์ เข้าช่วยทรงงานในตำแหน่งสำคัญๆ แทนที่ขุนนางตระกูลบุนนาค พร้อมกับที่มีการประกาศเลิกทาสใน พ.ศ. 2417 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลดอิทธิพลของขุนนางในระบบเก่า ที่ต้องอาศัยทาสและไพร่เป็นกำลังหนุนให้เกิดอิทธิพลดังกล่าวนั้น
จนเวลาผ่านไปอีก 11 ปี คือใน พ.ศ. 2428 กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางในอดีตกลุ่มสยามหนุ่ม (ว่ากันว่ากลุ่มนี้ที่เคยเคลื่อนไหวในช่วงท้ายรัชกาลที่ 4 พอรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราช ก็ยุติบทบาทไปชั่วคราว เหตุผลหนึ่งก็คือหัวหน้ากลุ่มคือรัชกาลที่ 5 ทรงเพิ่งขึ้นครองราช และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือรอคอยที่จะให้รัชกาลที่ 5 ทรงทำตามความคิดที่เคยคิดไว้) ที่เคยมีอุดมการณ์ร่วมกันมา ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายความคิดเห็นเรื่องการปรับเปลี่ยนการปกครองของประเทศไทย ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 (กรุงเทพฯสถาปนาขึ้นในปี 2325 ที่นับเป็นรัตนโกสินทร์ศกปีที่ 1) ซึ่งสร้าง “แรงกระเพื่อม” แก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทยมากพอควร ดังที่จะได้นำเสนอต่อไป
การปฏิรูปรัฐสภามีความจำเป็นมากในเวลาปัจจุบัน แต่ผู้เขียนต้องการที่จะปูพื้นฐานความเข้าใจกับผู้อ่านสักเล็กน้อยเสียก่อน จึงต้องของเนื้อที่ที่จะเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบันให้เห็นความจำเป็นของการปฏิรูปรัฐสภาดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่าแนวคิดของระบบรัฐสภาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” ได้อย่างไร
ทั้งนี้ที่สภาปัจจุบัน “บ้าๆ บอๆ” ก็อาจจะเป็นด้วย “เมากัญชา” ที่ว่าก็ได้