สถาพร ศรีสัจจัง
การสร้าง “ความชอบธรรม” (ฝรั่งเรียก “Righteousness” หรือ อาจกล้อมแกล้มใช้ “Legitimacy” ก็น่าจะได้มั้ง) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เวลาหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มผลประโยชน์เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือกลุ่มชนชั้นนำของสังคมหนึ่งๆที่มักเป็นผู้ “ใช้อำนาจเหนือ” คนส่วนใหญ่ของชุมชนหรือสังคมนั้นๆ
“ความชอบธรรม” อาจถูกสร้างขึ้นโดยรูปแบบของ “วาทกรรม” (Discourse) หรือกระบวนการเชิงเหตุผลชุดหนึ่ง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวแก่ คำๆหนึ่ง พฤติกรรมของคนๆหนึ่ง กลุ่มหนึ่งคณะหนึ่ง ระบบหนึ่ง หรือ “แนวคิดทฤษฎี” หนึ่ง เป็นต้น
“วาทกรรม” หรือ “กระบวนการเชิงเหตุผลชุดหนึ่ง” ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มักเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่เป็นการประดิษฐ์สร้างโดยกลุ่มคนที่มักเชื่อว่าตัวเองเป็น “นักคิด” ส่วนใหญ่เป็นพวกเรียนเรียนหนังสือมาก คร่ำเคร่งอยู่กับงานศึกษาวิจัย ที่สังคมสมัยใหม่มักเรียกตามฝรั่งตะวันตกว่าคือ “ปัญญาชน” (Intellectual) หรือ “นักวิชาการ” (Tecnoclat)
ตอนนี้ “คำ” ที่ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยเพื่อสร้าง “ความชอบ (และไม่ชอบ)ธรรม” ให้กับ “คน” บางคน และ “ระบบ” บาง “ระบบ” ที่ถี่กระชั้นจนใครต่อใครที่ติดตามข่าวสารทางสื่อ (โดยเฉพาะสื่อของคนยุคใหม่ที่เรียกกันว่า “โซเชียล”) แบบเป็นประจำ อาจต้องตกอยู่ในภาวะหูอื้อตาลายกับคำหรือ “ชุดคำ” ดังกล่าว ก็น่าจะคือคำว่า “เผด็จการ” กับคำว่า “ประชาธิปไตย”
คำ “เผด็จการ” นั้นพุ่งไปที่คนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยยามนี้ คือท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง!(ต้องขอถ้าโทษถ้าใครไม่ชอบคำนำหน้าชื่อที่เรียก “ท่าน” ตามธรรมเนียมนิยมของสังคมไทยที่ควรใช้เรียกผู้ดำรงตำแหน่งที่สังคมให้ความสำคัญ)
ส่วนคำ “ประชาธิปไตย” นั้น ดูเหมือนนักเรียนนักศึกษาประชาชนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเคลื่อนไหวต่อสู้ “เพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” (เท่าที่พอประมวลสรุปประเด็นการต่อสู้ที่สำคัญของพวกเขาได้มี 4 ประเด็น ได้แก่ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์)เป็นกลุ่มที่นิยมใช้มากที่สุด เพื่อตอกย้ำว่า สิ่งที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็น “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” (อันอื่นของคนอื่นกลุ่มอื่นล้วนไม่จริงทั้งสิ้น?)
ที่จริงการนำคำ “เผด็จการ” และ “ประชาธิปไตย” มาใช้เพื่อสร้าง “ความชอบธรรม” ในการต่อสู้ทางการเมืองนี้ไม่ใช่ของใหม่ สำหรับสังคมไทยมีใช้กันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย เข้มข้นขึ้นในรัชกาลที่ 6 (กรณี “กบฏหมอเหล็ง” ในร.ศ.130) และ ถูกอ้างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากสุดโดย “คณะราษฎร” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบรัฐสภาของผู้แทนราษฎรในพ.ศ.2475 อย่างที่รู้ๆกัน
อาจเนื่องจากคำ 2 คำนี้ถูกใช้กันแบบเลอะเทอะเลื้อนเปื้อนในหลายครั้ง จึงมักเกิดความสับสนไม่ชัดเจนในหมู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เป็นพวก “คนเรียนหนังสือมาก” (โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้สมาทานความคิดแบบตะวันตกมามากนัก) อย่างพวก “ปัญญาชน” หรือ “นักวิชาการ” ซึ่งมักชอบใช้คำพวกนี้อย่างติดปาก
สาเหตุที่ท่านนายกฯคนปัจจุบันถูกกล่าวหา(ฝ่ายนิยมท่านว่าอย่างนั้น)ว่าเป็น “เผด็จการ” ทั้งๆที่การเป็นนายกฯของท่านในยุคปัจจุบัน(ครั้งที่ 2) มีที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรม คือเป็นไปตามระบบกฎหมายบ้านเมืองโดยระบบรัฐสภา คือได้รับการ “โหวต” (Vote) จากสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก (ส.ส. และ ส.ว.) ตามระบบที่ตราไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับปัจจุบันที่ผ่านการประชามติจากประชาส่วนข้างมากของประเทศ (ถ้าจำไม่ผิดคือกว่า 16 ล้านเสียง) น่าจะมาจากเรื่องราวหลักที่อธิบายได้เพียงประเด็นเดียวคือ
เป็นเพราะภาพลักษณ์ที่ท่านเคยเป็นทหาร เป็นทหารที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่เคยทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลซึ่งมาจากระบบเลือกตั้งภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย
นางสาวยิ่งลักษณ์ผู้นี้เป็นน้องสาวของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ฟังว่าเป็น “นายใหญ่” ตัวจริงของพรรคการเมืองที่ทรงอิทพลมากพรรคหนึ่งดังกล่าว นักการเมืองผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเช่นกัน แม้เขาจะถูกทหารรัฐประหารยึดอำนาจเหมือนกับน้องสาว และปัจจุบันต้องไปใช้ชีวิตเร่ร่อนลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ต้องใช้พาสปอร์ตของประเทศอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่ “ประเทศไทย” แต่ก็ฟังว่า เขายังทรงอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งในวงการการเมืองไทย ทั้งยังมีเครือข่ายของผู้ทรงอำนาจระดับสากลในประเทศตะวันตกไม่น้อยที่ยังสนับสนุนเขาอยู่
ด้วยการต้อง “ฝ่า” ดงแข้งของกลุ่มที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ(ที่ควบคู่กับอำนาจรัฐอยู่แล้ว) เช่นนี้เอง ที่ทัวร์ว่าด้วยความเป็น “เผด็จการ” จึงมาลงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเลี่ยงไม่ได้!!ฯ