เหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ดำเนินการปักหมุดคณะราษฎรที่บริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง เสมือนประกาศยึดเป็นสนามราษฎร ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขุดหมุดดังกล่าวออกแล้ว และเพื่อเอาผิดกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย. 63 ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ความผิดตาม ม.85 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทบรรณาธิการสยามรัฐ ขอยกเนื้อหาเรื่อง “รอยทาง...สนามหลวง” เพื่อทราบความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ จากคอลัมน์ “ลานบ้านกลางเมือง” โดย บูรพา โชติช่วง เผยแพร่ในสยามรัฐออนไลน์ วันที่ 12 กันยายน 2563 มานำเสนอไว้ดังนี้
“ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ตามข้อมูล ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เมื่อแรกสร้างพื้นที่แห่งนี้เป็นท้องทุ่ง มีสัณฐานคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ต่อมาได้จึงได้รับการจัดขึ้นให้เป็นสถานที่ประกอบพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ตามแบบอย่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา จนประชาชนเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า ทุ่งพระเมรุ
แม้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ท้องสนามหลวง เพื่อแสดงให้นานาประเทศให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสยามก็ตาม แต่ถึงกระนั้นราษฎรยังคงนิยมเรียกพื้นที่นี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ” จนล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุ คนอ้างกันซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ทุ่งพระเมรุ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง” พร้อมกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์ขึ้นอีกด้วย
ถึงแม้ท้องสนามหลวงจะมีความสำคัญขึ้นโดยลำดับ หากแต่พื้นที่ยังมีขนาดเล็ก ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงท้องสนามหลวงครั้งใหญ่ ซึ่งแต่เดิมท้องสนามหลวงมีขนาดเพียงครึ่งเดียวของท้องสนามหลวงในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่ทิศเหนือยังเป็นพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของวังเจ้านายวังหน้า และถนนจักรวรรดิวังหน้า หลังจากยกเลิกตำแหน่งมหาอุปราช มาเป็นการตั้งมกุฎราชกุมารตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ในยุโรป จึงมีพระราชดำริว่า “...สถานที่ต่างๆ ในวังหน้าที่ไม่เป็นสิ่งสำคัญจะลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้แต่ที่เป็นสิ่งสำคัญ...” จึงปรับพื้นที่สนามม้าวังหน้าผนวกรวมเข้ากับพื้นที่ท้องสนามหลวง หากแต่การปรับปรุงยังคงค้างอยู่ ทำให้ท้องสนามหลวงในเวลานั้นมีรูปลักษณ์คล้ายกับผีเสื้อ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี....”
อ่านต่อฉบับหน้า