เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.
“ควรยุบกรมส่งเสริมสหกรณ์และธ.ก.ส.พร้อมรื้อรัฐราชการ”
สังคมที่จะอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนเร็วและรุนแรงนี้ คือ สังคมที่ปรับตัวได้ดีที่สุด คือสังคมที่ต้องปฏิรูป การปฏิรูปที่รื้อสร้างใหม่ ได้ระบบใหม่ที่ธ.ก.ส.และสหกรณ์จะยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่เหมือนวันนี้
สหกรณ์แห่งแรกก่อตั้งเมื่อกว่า 160 ปีก่อนที่อังกฤษ ไล่เลี่ยกับ “กลุ่มออมทรัพย์” สำหรับเกษตรกรและกรรมกรที่เกิดในเยอรมันโดยนาย Reiffeisen อันเป็นชื่อของกลุ่มออมเงินที่เป็นสหกรณ์แบบหนึ่ง ที่ได้รวมตัวกันเป็นธนาคารชื่อเดียวกันนี้และแตกต่างกันไปในประเทศต่างๆ อย่าง Rabobankในเนเธอร์แลนด์ เครดิตยูเนียนในแคนาดา สหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
สหกรณ์ในอังกฤษและกลุ่มออมทรัพย์ไรฟ์ฟายเซนในเยอรมนีเกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟูในสองประเทศนี้ เป็นทางอออกให้ “คนจน” รวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐาน การจัดการการผลิต การบริโภค เป็นทางเลือกไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ถูกครอบงำ ผูกขาดจากอำนาจทุน เจ้าของปัจจัยการผลิต
นี่คือสถานการณ์การก่อเกิดของแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ที่เห็นว่าเป็นทางออกของสังคมเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากนายทุน เป็นทางเลือกใหม่จากทุนนิยมผูกขาด เพียงแต่มาร์กซ์ไปไกลว่า คนที่ใช้แนวคิดของเขาก็พัฒนารูปแบบระบบโครงสร้างที่ต้องการทำให้สังคมทั้งหมดเป็น “สหกรณ์” เป็น “คอมมูน” “คอมมิวนิสต์”
เกือบ 200 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ทุกรูปแบบเป็นทางเลือกของสังคมที่ “คานอำนาจ” ของทั้งทุนนิยมเสรีและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ประเทศพัฒนามีระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง ทุนผูกขาดไม่สามารถครอบงำเศรษฐกิจของประเทศได้ กรณีที่โดดเด่นที่สุด คือ เดนมาร์ก ประเทศในสแกนดิเนเวีย และในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ ในเอเชียก็เห็นสหกรณ์ที่เข้มแข็งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม
อิตาลีมีระบบสหกรณ์การเกษตรที่โดดเด่นที่สุด ลบล้างคำปรามาสของทุนนิยมและมาร์กซิสต์ที่ว่า สหกรณ์และเศรษฐกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจที่รอวันตาย ลองไปที่แคว้นเอมีเลีย โรมาญา ที่มีเมืองโบโลญาเป็นศูนย์กลางจะพบว่า ประชากรสามในสี่ของแคว้นนี้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตร
สิบอันดับแรกของสถาบันการเงินที่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์สหกรณ์การเกษตร นำโดยฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลี ล้วนมีสินทรัพย์มากกว่าล้านล้านบาท และในบัญชี 300 สหกรณ์ออมทรัพย์และการเกษตรใหญ่สุดทั่วโลก เกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น
ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและอื่นๆ มีสหกรณ์เหมือนกันและหลายรูปแบบ ก่อตั้งมานานเป็นร้อยปี แต่ไม่โต เป็นไม้ในกระถาง สาเหตุเพราะระบบโครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้อ ถูกอำนาจรัฐอำนาจทุนบอนไซตลอดมา จนอาจดูดีแต่ไม่มีคุณค่าพอที่จะแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำของสังคมได้
เคยพาเพื่อนชาวฝรั่งเศสนั่งรถข้ามสะพานพระราม 9 บอกเขาว่า ตึกสูงใหญ่นั่นคือ Thai Farmers Bank (ธนาคารกสิกรไทย) เขาอุทานว่า ไทยก็มีธนาคารชาวนาใหญ่เหมือนฝรั่งเศสเลยนะ ต้องอธิบายว่า นั่นเป็นธนาคารเอกชน ของรัฐก็มีชื่อว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
องค์กร สถาบันการเงินของเกษตรกรก็มีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ มีชุมนุมสหกรณ์ แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทหรือส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร ไปกู้หนี้ธ.ก.ส.มาปล่อยสมาชิก เกษตรกรมีหนี้สินเต็มไปหมดจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่หาทางออกไม่ได้ ต้องไปกู้พ่อค้ามาคืนธ.ก.ส. กู้ธ.ก.ส.ไปคืนพ่อค้า
มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่ก็เป็นเหมือนหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ไปควบคุมกำกับสหกรณ์ แทนที่จะช่วยส่งเสริมให้เติบโต เกิดมาร้อยปียังไม่ได้เป็นกลไกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจริงๆ สหกรณ์อ่อนแอ จนมูลนิธิหมู่บ้านและเครือข่ายผู้นำช่วยกันพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งก็คือสหกรณ์เล็กๆ นั่นเอง เล็กเพื่อให้ชาวบ้านจัดการกันเองได้ และกระจายไปในชุมชนหมู่บ้าน ไม่ใช่มีสหกรณ์อำเภอที่ชาวบ้านไม่อยากไป
นายลัทธ์ หนูประดิษฐ์ประธานสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ เคยไปดูงานสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เยอรมนีร่วมกับผู้นำเกษตรกรโดยมูลนิธิหมู่บ้านประสานงาน กลับมาพยายามปรับปรุง นำรถออกไปรับเงินออมจากหมู่บ้านต่างๆ จนสหกรณ์การเกษตรต่างๆ มีเงินออมหลายพันล้าน
นายลัทธ์ คือ ที่คนที่ขอให้เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่นั่งอยู่ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่กลับไปนั่งที่อำเภอ บอกว่าเมื่อไรมีปัญหาจะไปขอให้ช่วย
สังคมไทยในยุคที่อยากไปถึง 4.0 อยากเป็นประชาธิบไตย ในโลกยุคใหม่ไม่ควรมีธ.ก.ส. ที่เป็นของรัฐ แต่เป็นของเกษตรกรเหมือนประเทศพัฒนา ให้รัฐสมทบทุนการออมของเกษตรกร ซึ่งหากทำแบบหาดใหญ่ นาหม่อม อำเภอต่างๆ ที่สงขลาและจังหวัดอื่นๆ ซึ่งแต่ละแห่งมีเงินออมหลายพันล้าน ให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้าของสถาบันการเงินร่วมของเกษตรกร ธ.ก.ส.ยุคใหม่จะมีทุนไม่น้อยไปกว่าของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย
ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรยุบไปเป็นองค์กรมหาชนที่มีวิธีคิดใหม่ที่ส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ต่างๆ สหกรณ์ออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน (ที่ควรแก้ไขพ.ร.บ.ให้เป็นนิติบุคคลและมีองค์ประกอบเหมือนในร่างแรกที่เสนอตั้งแต่ปี 2544 )
ไปโทษคนไทยว่าชอบอิสระ ไม่ชอบการรวมกลุ่ม ลองนึกถึงการลงแขก การร่วมมือกันทำงาน แบ่งปันข้าวของเครื่องใช้ในอดีตจารีตประเพณีวิถีชุมชน พึ่งพาอาศัยกันจึงอยู่รอดปัญหาสารพัดมาได้ คุณค่านี้หายไป
โครงสร้างสังคมวันนี้ปล่อยให้ทุนนิยมผูกขาด ครอบงำ ทำลายคุณค่าเดิม จนยากที่เกษตรกร คนเล็กๆ จะเติบโตได้ รัฐเองก็ทำตัวเป็น “นายทุน” ไปด้วย อย่าง ธ.ก.ส. ที่ทำให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนเติบโตไม่ได้ ไม่รื้อสร้างระบบใหม่ก็จะได้สังคมล้มเหลวแบบนี้ต่อไปอีกนาน