ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] รัฐบาลดูเหมือนว่าจะอึดอัดกับปัญหาการเงินการคลังที่ร่วงโรยลงไปเรื่อยๆ รายได้ไม่เข้ามีแต่รายจ่ายเต็มไปหมด เครื่องยนต์ 2 เครื่อง คือการส่งออกติดลบ 7.7% และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักยังไม่กระเตื้องกลับ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ นอกจากนี้การจัดเก็บรายได้ของกรมต่างๆไม่เข้าตามเป้าหมาย อาจติดลบเข้าไปอีก อาจต้องกู้เพิ่มมาใช้จ่าย ประคับประคองฐานะของรัฐบาลเพิ่มอีก เป็นผลให้ฝ่ายค้านถล่มรัฐบาลอย่างหนักในสภา เพราะการจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าแล้ว เครื่องยนต์อีก 2 ชุด คือ ส่งออกกับท่องเที่ยวยังติดลบกันอยู่ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ การจะอาศัยแต่การท่องเที่ยวสำหรับคนในประเทศคงไม่พอเพียงต่อการฟื้นฟูธุรกิจ ความยากจนจึงระงมไปทั่ว เพราะปัญหาหนี้สินครัวเรือนมีมากถึง 13.4 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในการประกอบอาชีพและหลักทรัพย์ที่อยู่อาศัยถึง 70% ก็ตาม ในส่วนอีก 30% เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งอาจทำให้ล้มละลายได้ ซึ่งธนาคารชาติและสถาบันการเงินต่างขวนขวายที่จะช่วยเหลือลดหนี้ ปรับหนี้ ชะลอหนี้ ให้กับหนี้สินเหล่านี้ถึง 12 ล้านล้านบาทแล้วก็ตาม ตอนนี้ลามไปถึงองค์การบริหารส่วนภูมิภาค เช่น อบต. อบจ. และเทศบาล ต่างมีปัญหาจากการเก็บรายได้ภาษีบ้านและที่ดินที่ลดลงถึง 90% ทำให้ต้องเดินทางมาพบกระทรวงการคลังให้ช่วยเหลือ บางแห่งใช้เงินสะสมท้องถิ่นมาจ่ายเงินเดือนกันแล้ว ซึ่งการช่วยเหลือของปีนี้ คือ การใช้งบประมาณของปีที่ผ่านมา 8 หมื่นกว่าล้านให้ อปท. ไปหมื่นล้านบาท และให้ตั้งงบอุดหนุนในปี 64-65 มาชดเชย พอแก้ไขได้บ้าง ในขณะที่ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลมีปัญหาต้องสะดุดลงเช่นนี้ นอกจากจะไม่มีเงินมากพอมาใช้จ่ายกับงบประมาณภาครัฐแล้ว ยังไม่มีมากพอที่จะจ่ายให้กับผู้คนทั้งประเทศเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไป แต่มีเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเอง ที่ต้องใช้เงินและงบประมาณในการจัดทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละ 4,000 ล้านบาท รวมกับค่าใช้จ่ายเบี้ยเลี้ยงอื่นๆอีก คงไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท 2 ครั้งก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการจัดร่างใหม่โดย ส.ส.ร. อีก คงใช้เงินงบประมาณไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ในยามที่ประเทศต้องรัดเข็มขัด แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นเพียงใด ดูเหมือนว่ามีความพยายามจะแก้ไขมาตราที่ว่าด้วย ส.ว.และการเลือกตั้ง ซึ่งก็คงยังไม่ถึงเวลาและจำเป็นในขณะนี้ น่าจะรอให้วิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19 มีสถานะดีขึ้นก่อน แล้วจึงจัดทำในการแก้ไขเสียก่อนดีกว่าไหม ดูสิว่าปัจจัยใดสำคัญกว่ากันระหว่างผู้คนจะอดตาย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ไข หากนำเงิน 15,000 ล้านบาทต่อชีวิตประชาชนไปก่อน หรือมาบริหารจัดการน้ำ น่าจะได้ประโยชน์กว่าหรือไม่ ฟังเสียง ส.ว.ยังมีการแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยอมให้แก้ไขทั้งหมด กลุ่มที่ยอมให้แก้เป็นบางมาตรา และกลุ่มเสียงเงียบ ถ้าเป็นเช่นนี้มติของสภาที่ต้องใช้เสียง ส.ว.บางส่วนคงไม่เกิดผล อาจต้องล่มไปทุกร่างก่อนก็ได้ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก จะหาหลักประกันอะไรว่าจะสามารถเลือกคนใหม่ที่ดี เก่ง มีคุณภาพ มาช่วยชาติในช่วงที่มีวิกฤตินี้ได้เพียงใด หรือว่าต้องการเพื่อให้ออกไปก่อน เพื่อให้สะใจของคนบางกลุ่มเท่านั้น