ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจ โดยในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.5 ในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้ร่วมมือกัน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการตามปกติ แม้ว่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งบางส่วนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หมุนเวียนในกิจการ พร้อมคาดการณ์ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 94.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ก็พบว่าในเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 32.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.8 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลกระทบสำคัญต่อดัชนีฯ ในเดือนส.ค.นี้ คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี, รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ที่ปิดไปชั่วคราวได้กลับมาเปิดกิจการได้ และประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง 30 สตางค์/ลิตร ประกอบกับคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ได้ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นการบริโภค 2 มาตรการ 1. เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 500 บาท/คน/เดือน ช่วง ตุลาคม-ธันวาคม 2563 ซึ่งให้แก่กลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ประมาณ 14 ล้านคน 2.“คนละครึ่ง” วงเงิน 100 บาท/คน/วัน คนละไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดโครงการ ให้ประชาชนใช้จ่ายซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10 ล้านคน ส่วนร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมได้คือ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านค้ารายย่อยทั่วไป ที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ ประมาณ 100,000 ร้าน เริ่มลงทะเบียน 16 ตุลาคม 25 63 และสามารถใช้ได้ 23 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2563 เราเห็นว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้ามสันดอนไปได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ยังร่วมมือร่วมใจกันรักษามาตรฐานความปลอดภัย จากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นอตหลวม รวมทั้งต้องระวังป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนทางการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆนอกกติกา เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะพ้นออกจากห้องไอซียูได้ในอีกไม่ช้า