ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นน่าจะหมดไปจากสังคมของราชการไทยได้ยากกระมัง เพราะยิ่งปูดยิ่งเจอ โดยเฉพาะในส่วนงานของราชการ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการของผู้บังคับใช้กฎหมาย กลายเป็นกฎหมายมีไว้เป็นกลไกบางส่วนของการทุจริตคอรัปชั่น หลายเรื่องหลายวงการปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันคึกโครม อาจเป็นเพราะการปราบปรามทุจริตในวงราชการเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลชุดนี้มุ่งหวังให้มะเร็งร้ายที่เกาะกินมาจนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติทั่วไปเสียแล้ว หากเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกมะเร็งเกาะกินเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวต่อภาพลักษณ์และความล้มเหลวของระบบราชการไทย เช่น - การเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์หรูราคาแพงของข้าราชการกรมศุลกากรที่ต่ำกว่าความเป็น จริงภาษีเสียหายนับพันล้านบาท - ข้าราชการ SDI รับสินบนเพื่อยกเว้นการยึดทรัพย์ของผู้บริหาร สกสค. - การทุจริตสนามฟุตซอลของโรงเรียน สพฐ. ในจังหวัดภาคอีสาน - การทุจริตกล้องวงจรปิดของโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ - ลูกหลานเข้าเรียนต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้โรงเรียนนับแสนบาท - วงการตำรวจต้องจ่ายค่าวิ่งเต้นโยกย้ายกับตำแหน่งรายละนับล้านบาท ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่มีการขุดคุ้ยกันออกมา แต่ที่ขุดคุ้ยไม่พบก็คงมีอีกมากที่ซุกซ่อนกันอยู่ ทั้งในเชิงนโยบายและการจัดซื้อจัดจ้างหรือการแลกเปลี่ยนที่ไม่ต้องถูกบังคับใช้กฎหมาย ฟังๆ ดูแล้วคงแก้ยากแม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เรียกกันว่าฉบับปราบโกงก็ตามที ยิ่งมีกฎหมายเข้มงวดมาก ยิ่งเปิดโอกาสให้ได้ค่าตอบแทนสูงยิ่งขึ้นไปอีก แต่ที่ประชาชนแปลกใจยิ่งกว่าแวดวงราชการนั่นคือ แวดวงของวัดที่ได้รับการยกเว้นทั้งภาษีและการตรวจสอบ จึงเป็นโอกาสให้เกิดช่องว่างของการทุจริตกันในรูปแบบต่างๆ ทั้งเอกชนเข้าไปแอบอิงผลประโยชน์จากเงินบริจาคของวัด ทั้งพระในวัดบางรูปอาจแอบอิงเงินบริจาคของประชาชนไปเป็นของตนเอง ดังปรากฏเป็นข่าวบางวัดในภาคใต้ที่มีการฆ่าเณรปิดปาก เพราะอาจจะไปรู้เรื่องการทุจริตภายในวัดตามที่วิพากย์วิจารณ์กัน เห็นกันชัดๆ ก็คือวัดพระธรรมกายฉาวโฉ่เรื่องเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน นักธุรกิจที่ถูกกล่าวหาฟอกเงินโดยใช้วัดเป็นแหล่งฟอกเพราะปลอดจากการตรวจสอบ หากไม่มีการขุดคุ้ยกันขึ้นมาก็คงจะมีวัดอีกมากมายที่อาจมีปัญหาเหล่านี้อยู่อีก ที่รับไม่ได้ไปกว่านั้น ข้าราชการในสำนักพระพุทธศาสนาเองทุจริตยักยอกเงินหลวงที่เป็นงบประมาณของรัฐหรือภาษีของประชาชนที่ใช้กลวิธีทอนเงินให้กับตัวเองมานานนับสิบปี คิดดูวัดมี 30,000 วัด มีงบประมาณสำหรับสนับสนุนวัดหลายพันล้านบาทต่อปี หากมีเงินทอนกันถึงปี 70 – 80 % ตามข่าว ภาษีประชาชนตกหล่นเข้ากระเป๋าฆราวาส หรืออาจมีพระในวัดรู้เห็นเป็นใจด้วยก็ได้เป็นการทำลายศรัทธาของประชาชน การปฏิรูป พรบ. สงฆ์ จึงน่าเป็นเรื่องที่พึงพิจารณาเพราะงบประมาณแผ่นดินไม่ควรหล่นหาย จึงจำเป็นเสียแล้วที่ สตง. จะต้องเข้าไปตรวจสอบสถานภาพการเงินเหมือนหน่วยงานราชการทั่วไป เพราะวัดเป็นที่อบรมสั่งสอนศาสนาพุทธ อย่างน้อยศีล 5 ควรปฏิบัติทั้งพระในวัดและนอกวัดด้วย การเปิดเผยด้วยความบริสุทธิ์ทั้งเงินบริจาคและเงินงบประมาณแผ่นดินให้ปรากฎ เป็นเรื่องที่พึงมีหรือไม่คงไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรอีก รัฐบาลพึงกวาดบ้านให้สะอาดโดยเฉพาะการทุจริตงบประมาณแผ่นดินหล่นหายไป ทั้งภาษีอากรที่หล่นหายจากการละเลยของผู้บังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยงานรวมถึงการปฏิรูป พรบ. สงฆ์ ให้สะอาด ปราศจากข้อกังขาของพุทธศาสนิกชนได้แล้วกระมัง