ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
นักบวชท่านหนึ่งซึ่งศึกษาทางด้านปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และบวชพระอยู่ 25 พรรษา ได้เคยอธิบายคำว่า “ทุกข์” ความจริงความหมาย “ทุกข์” มาจากสิ่งที่เรียกว่าช่องว่างที่ไม่ดี (bad space) ตัวอย่างเช่น การล่าสัตว์มาแต่ละครั้งจะต้องมีการจัดสรรปันส่วนอย่างยุติธรรมมากน้อยตามลำดับ แต่เมื่อใดก็ตามคนที่อยู่ระดับเดียวกันที่ควรจะได้เท่ากัน ได้รับส่วนแบ่งไม่เท่ากันก็จะเกิดช่องว่าง ซึ่งแน่นอนย่อมนำไปสู่ความไม่พอใจ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และนี่คือต้นเหตุแห่งทุกข์
ทุกข์ในแง่นี้จึงมาจากการเกิดช่องว่าง วิธีการแก้ปัญหาก็คือพยายามปิดช่องว่าง เช่น คนที่ได้รับเงินเดือนๆ ละ 15,000 บาท แต่คาดหวังว่าจะได้ 25,000 บาท เมื่อไม่สามารถจะขอให้ขึ้นเงินเดือนได้ตามที่ต้องการก็อาจหางานใหม่ที่มีรายได้ใกล้เคียง นี่คือวิธีการปิดช่องว่าง อีกวิธีหนึ่งก็คือการยอมรับสภาพโดยไม่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แล้วอยู่กับความเป็นจริงอันนั้น อันนี้เท่ากับเป็นการทำใจหรือปลงเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ซึ่งจะไม่นำไปสู่ความเกิดการทุกข์ใจ
พูดถึงช่องว่างมีหลายอย่างที่เป็นช่องว่างสำหรับคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน และเมื่อใดที่เกิดช่องว่างก็มักจะนำไปสู่ปัญหา เช่น ความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้ง การมีค่านิยมที่ต่างกัน มองปัญหาคนละมุม คนละแง่ ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ยุติธรรม” ความยุติธรรมสำหรับคนๆ หนึ่งอาจเป็นความไม่ยุติธรรมสำหรับอีกคนหนึ่ง กลับกันฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้น ช่องว่างจึงเป็นที่มาแห่งปัญหาโดยมีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
1. ช่องว่างระหว่างวัย เป็นช่องว่างที่คนอายุต่างกันในลักษณะคนละรุ่น เช่น รุ่นปู่กับรุ่นพ่อถึงแม้จะยังมีช่องว่างไม่มากแต่ก็เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องจากวิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหา วิธีการทำงาน ฯลฯ นอกเหนือจากนั้นรสนิยมเรื่องอาหารการกิน เรื่องสุนทรีย์ ก็จะต่างกัน จึงไม่แปลกที่รุ่นปู่และรุ่นลูกจะมีช่องว่างระหว่างวัย และมาถึงรุ่นลูกจนถึงรุ่นหลานก็จะมีช่องว่างระหว่างวัยอีก ตัวอย่างเช่น การร้องเพลงเอลวิสและเต้นทวิส ในอดีตถือว่าเป็นการเต้นที่ดุเดือด ไม่สุภาพ แต่คนรุ่นปัจจุบันเมื่อเห็นการเต้นดังกล่าวเกิดการรู้สึกขบขันเพราะมีลักษณะ “เชย” และนี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่มีทางเลี่ยงได้ คนรุ่นใหม่เป็นคลื่นลูกใหม่เขาจะมีวิธีการมองปัญหาชีวิต การดำเนินชีวิต การทำงาน การพยายามประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ที่อาจแตกต่างจากรุ่นพ่อแม่
2. ช่องว่างระหว่างความรู้ คนสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันมาจนจบมัธยมทั้งคู่ คนหนึ่งเมื่อจบมัธยมก็หางานทำและสลับกับการทำการค้าขายจนประสบความสำเร็จมีฐานะดีพอสมควร ส่วนอีกคนหนึ่งศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีและได้ทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก เมื่อกลับมาก็ทำงานอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม เป็นถึงอธิบดี และต่อมาก็โอนมาเป็นครูบาอาจารย์ ระหว่างเพื่อนสองคน คนหนึ่งจบปริญญาเอกมีอาชีพรับราชการและเป็นนักวิชาการ ส่วนอีกคนหนึ่งทำธุรกิจ ทำงาน และไม่ได้ศึกษาต่อหลังจากจบมัธยมแล้ว เมื่อสองคนพบปะพูดคุยกันถ้าพูดถึงเรื่องอดีต เรื่องพื้นๆ ทั่วๆ ไปก็สามารถจะเข้ากันได้ แต่เมื่อพูดในเรื่องจริงจังอาจจะมีความต่างอย่างมากเนื่องจากพื้นฐานทางความรู้และภูมิหลัง รวมทั้งระบบความคิดซึ่งไปคนละทิศละทาง และนี่คือช่องว่างระหว่างความรู้
3. ช่องว่างระหว่างความคิด เมื่อความรู้ต่างกัน ความคิดก็อาจจะต่างกัน หรือแม้ความรู้ใกล้เคียงกันแต่ก็อาจจะต่างอุดมการณ์ ต่างประสบการณ์ ต่างความเชื่อ ต่างค่านิยม ก็จะนำไปสู่ความคิดที่ไม่สามารถจะเข้ากันได้ ช่องว่างระหว่างความคิดเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่รุนแรงเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนามธรรม ความถูกความผิด ดีหรือไม่ดี ซึ่งทุกคนมีจุดยืนของตน มีค่านิยมที่ตนต้องการรักษา มีศรัทธาและความเชื่อที่ไม่อยากให้ใครมาเปลี่ยนแปลง ช่องว่างระหว่างความคิดมีอยู่ในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน
4. ช่องว่างระหว่างมาตรฐานศีลธรรม คนสองคนอาจจะมีระดับการศึกษาเท่าเทียมกัน มาจากชนชั้นสังคมใกล้เคียงกัน คนหนึ่งอาจมีหลักการ มีศีล มีสัตย์ มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ส่วนอีกคนหนึ่งมุ่งแต่การหาผลประโยชน์ที่ผิดทำนองคลองธรรม ผิดกฎหมาย เมื่อทำงานก็มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์ด้วยกัน มาตรฐานศีลธรรม จริยธรรมและหลักการ อาจจะต่างกัน ช่องว่างระหว่างมาตรฐานศีลธรรมนี้เป็นเรื่องรุนแรงแทบจะทำให้คบหากันต่อไปไม่ได้ เพราะเท่ากับดีและไม่ดี ขาวและดำ
5. ช่องว่างระหว่างเงินตรา ช่องว่างที่รุนแรงที่สุดที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็คือ คนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยมหาศาล อีกกลุ่มหนึ่งยากจนค้นแค้น การพูดจาระหว่างคนจนคนรวยย่อมพูดกันลำบาก ต่างคนต่างมองผลประโยชน์ของตนตามมุมมองของตนเอง แต่ที่สำคัญคือ นัยทางการเมืองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่วุ่นวายได้ ชนชั้นสังคมแบ่งด้วยเงินตราซึ่งเกี่ยวพันกับอำนาจและสถานะทางสังคมจนเกิดเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ คำพูดๆ หนึ่งคือ “คนรวยทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด”
6. ช่องว่างระหว่างการบริหารจัดการ ถ้าการบริหารจัดการของระบบหนึ่งไร้ประสิทธิภาพประสิทธิผล ทำให้ผลงานออกมาใช้ไม่ได้ก็ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจ เพราะฉะนั้นช่องว่างระหว่างในการบริหารจัดการนอกจากจะสร้างปัญหาภายในประเทศ ถ้าเป็นกรณีสำคัญกับต่างประเทศก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายได้
7. ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม อันได้แก่ การตกหลังทางวัฒนธรรม (culture lag) หลายอย่างที่มีการปฏิวัติในประเทศต่างๆ อาจจะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมสากล ดังนั้น คนซึ่งไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก รวมทั้งค่านิยมและปทัสถานต่างๆ อาจจะยังมีพฤติกรรมแบบเดิม เช่น พฤติกรรมบางอย่างในมาตรฐานของภูมิภาคอาเซียนหรือมาตรฐานโลกก็จะเป็นการไม่สอดคล้อง และนี่คือช่องว่างอีกประเภทหนึ่ง
8. ช่องว่างระหว่างเทคโนโลยี เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีการติดตาม ศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ก็จะกลายเป็นคนตกหลังทางเทคโนโลยี (technology lag) คนตกหลังเทคโนโลยีจะเสียเปรียบในการทำงานเพราะขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัย การติดตามข่าวสารก็ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับคนที่คร่ำหวอดเรื่องดังกล่าว ช่องว่างในเรื่องเทคโนโลยีจะกลายเป็นดัชนีชี้ถึงอัตราการรู้หนังสือ (literacy) ซึ่งแปลว่าการรู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ แต่ปัจจุบันการตกหลังทางเทคโนโลยีก็เหมือนการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเป็นภาษาการสื่อสารอีกภาษาหนึ่งเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาไทย
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมก็คือ ความขัดแย้งระหว่างช่องว่างต่างๆ เช่น คนรวยกับคนจนมีความขัดแย้งเรื่องเงินตรา แต่คนจนก็รู้ภูมิหลังคนรวยว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม ขี้โกง ซึ่งจะเกิดช่องว่างระหว่างมาตรฐานศีลธรรมขึ้นระหว่างคนสองคน นอกเหนือจากนี้ ถ้าคนที่มีรายได้น้อยกว่าเป็นคนมีความรู้ มีการศึกษา ในขณะที่คนที่ร่ำรวยกว่านั้นอาจจะมีระดับการศึกษาที่ไม่สูง มีความคิดที่ตื้นเขินและผิวเผิน ก็จะกลายเป็นช่องว่างระหว่างความรู้และความคิด แม้คนที่ยากจนกว่าจะเสียเปรียบเมื่อคำนึงถึงระหว่างช่องว่างของเงินตรา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนย่อมจะมีสิทธิที่จะมีความภูมิใจในส่วนที่ดีของตน และมีสิทธิที่จะไม่ให้น้ำหนักหรือให้ความนับถือกับช่องว่างที่เกิดขึ้นกับคนบางคน แม้จะได้เปรียบในช่องว่างอย่างอื่น เช่น ช่องว่างระหว่างเงินตราแต่ก็จะด้อยกว่าเมื่อเทียบกับอีกคนหนึ่ง นั่นคือ ช่องว่างระหว่างความรู้ ความคิด และมาตรฐานทางศีลธรรม