แสงไทย เค้าภูไทย
แม้ม็อบไล่ลุงตู่จะดูทรงพลัง แต่ในเมื่อเจ้าตัวทำเป็นไม่รับรู้ ซื้อเวลาหวังผ่านพ้นวิกฤติ หรือมีใครทำรัฐประหารกระชับอำนาจให้ แต่ใกล้กำหนดเกษียณอายุราชการ ไม่มีใครเอาด้วย จึงอาจจะมียังเติร์กรุ่นใหม่ขึ้นมา
ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว มีการนำภาพอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ เสนอลอยๆว่าน่าจะเป็นนายกฯในยามวิกฤติ
แสดงว่า มีคลื่นใต้น้ำอีกลูกรอโถมใส่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่กำลังเผชิญกับม็อบขับไล่ของบรรดาคนรุ่นใหม่
ก่อนหน้านี้ หรือที่จริงก็คือขณะนี้ มีข่าวลือและคาดเดากันหนาหูว่า จะมีการทำรัฐรับประหาร กระชับอำนาจบิ๊กตู่
แต่ก็มีการปฏิเสธจากพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เมื่อเดือนก่อนเคยให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยว คงรอแต่ 55 วันที่จะครบเกษียณอายุราชการเท่านั้น
นายพล 80 คนล้วนหายใจไม่ทั่วท้อง เอาแต่นับวันครบเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน นี้ที่ยังเหลืออีก 14 วันเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ยังได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพลเกษียณ 68 คนเป็นราชองครักษ์ ซึ่งในจำนวนนั้น มีพลเอกอภิรัชต์และพลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. อยู่ด้วย
ส่วนผบ.ทบ.คนใหม่ ก็เป็นสาย “วงศ์เทวัญ” ไม่ใช่ “ทหารเสือราชินี” หรือพยัคฆ์บูรพาอันเป็นสายเดียวกันกับบิ๊กตู่ บิ๊กป้อมและบิ๊กป้อก
จึงถ้าจะมีใครทำรัฐประหารตอนนี้ ก็ไม่น่าจะเป็น บุคคลเหล่านี้ น่าจะเป็น “ยังก์เติร์กเลือดใหม่” ซึ่งก็คงจะไม่เอาบิ๊กทั้งสาม
อย่างไรก็ดี เมื่อมองสภาพแวดล้อมและสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำสุดๆขนาดคลังไม่สามารถจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราได้ทั่วถึงตามกำหนดเวลา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเงินภาครัฐที่คลัง ต้องเลื่อนอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 ที่ไม่สามารถใช้ได้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยให้ใช้งบฯปี 63 ไปก่อน
ส่อให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังเข้าตาอับเข้าไปทุกที
อันจะนำไปสู่ภาวะวิกฤติอื่นๆ กลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติตามมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2
แม้ยามนี้ไทยจะอยู่ในสภาพดีกว่าเพื่อน ที่สามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ก็ยังหวาดหวั่นว่าแรงานอพยพเมียนมาร์จะเล็ดรอดนำเข้ามา
อีกวิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเริ่มรุนแรงขึ้นทุกทีก็คือภาวะว่างงาน
ตัวเลขคนไทยตกงานอย่างเป็นทางการล่าสุด 1 ล้านคนแล้ว ที่หนักที่สุดคือในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อป้อนตลาดโลก
รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นที่เคยเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทยย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม
เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% จะหวังพึ่งตลาดภายใน 30% ก็พึ่งไม่ได้ ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 คนไทยจนลงไปกว่า 50%
อีกปัญหาที่พร้อมจะเติมความรุนแรงก็คือ การเอาพวกเอาพ้องน้องพี่เข้าไปกินตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ การคอร์รัปชันและกระบวนการยุติธรรมบิดเบือน
ที่ยังเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ก็คือคดีบอส อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจตาย ที่ตัวนายกฯลงมาดูแลเอง
ทั้งๆที่ประชาชนรู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่ามีการทำผิดบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม แต่ตัวนายกฯกลับเงียบงำ ไม่กล้าจัดการอันใด
เพราะถ้าสาวกันจริงๆแล้ว งานนี้แยงรากไปถึงหัวขบวนรัฐบาล
ยังไม่นับการคอร์รัปชันในรัฐบาล ในหมู่ข้าราชการ คนใกล้ตัวนายกฯ และแม้แต่ตัวนายกฯเองที่ทำตัวเป็นคนใสซื่อมือสะอาด ก็จะโดนขุดคุ้ยด้วย
นี่เองที่ทำให้ชื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ลอยขึ้นมาเป็นนายกฯทางเลือก
ทำให้บางคนมองกันไปว่า เขาไม่น่าจะเป็นตัวเลือกธรรมดาๆ
หากแต่จะเป็นนายกฯพระราชทาน