สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บทความของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้ออกมาเตือนว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกยังไม่จบ การฟื้นตัวยังทำได้ไม่เต็มที่ จากการชะลอตัวอย่างรุนแรงเพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโวิด+19 ยังคงเปราะบาง ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรยกเลิกการช่วยเหลือแรงงานและธุรกิจก่อนเวลาอันควร เนื่องจากเป็นวิกฤติที่ไม่เคยมีมาก่อน อาจทำให้เกิดกระแสการล้มละลายและทำลายล้างตำแหน่งงานมากขึ้น สำหรับประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน รวมถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่น่าเป็นห่วง เห็นได้จากสิ้นไตรมาส 2/2563 มีผู้ว่างงานทั้งหมดแล้วกว่า 7 แสนคน และยังมีผู้มีงานประจำแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังคงเปราะบางสูงจากความไม่แน่นอนรอบด้านที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุน การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอุปสรรคอยู่มาก ประกอบกับในช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลต่อเนื่องและจะเกินดุลเพิ่มหากมีรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาผ่านมาตรการเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางกับประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 (Travel Bubble) ดังนั้น กกร. จึงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังหดตัวต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับ ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเสียแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว หลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองซ้ำในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นตัน ทำให้แรงขับเคลื่อนของการฟื้นตัวเหลือแค่เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนเป็นหลัก โดย กกร. ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ทั้งปีอาจหดตัวในกรอบ -9% ถึง -7% การส่งออกอาจหดตัวในกรอบ -12% ถึง -10% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1% ภายใต้สมมติฐานที่จะไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2563 นี้ว่า จะเป็นอย่างไร หากยืดเยื้อลากยาว จะไม่เป็นผลดีกับประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ขณะนี้รอจังหวะหมด โควิด-19 แล้วจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคเอกชน และนักลงทุน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากก็จริง ด้วยการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาในประเทศไทย ในห้วงวิกฤติการเมือง10 กว่าปีที่ผ่านมา สร้างภาพที่เลวร้ายทางด้านเศรษฐกิจเอาไว้อย่างหนักหนาสาหัส ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำร้ายทุกภาคส่วนจนทุกวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นกลับคืนไปเท่ากับก่อนหน้าเกิดวิกฤติการเมือง และเมื่อต้องมาเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19อีก จึงเป็นเรื่องที่ต้องวิตกกังวลเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กระนั้น สิ่งหนึ่งที่รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทุกฝ่าย สามารถทำได้ คือการไม่สร้างบรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองให้ตึงเครียดและน่าสะพรึงกลัวเกินความจำเป็น กลุ่มผู้ชุมนุมต้องไม่สร้างเงื่อนไข หรือสร้างสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดความรุนแรงและบานปลายเกินควบคุม รัฐบาลก็ไม่ควรมีปฏิกิริยาตอบโต้มากเกินไป หรือ OVER REACT ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อรักษาความเชื่อมั่นอันเปราะบางต่อเศรษฐกิจไทยต้องพังทลายลง หรืออย่างน้อยๆ ก็ให้บาดเจ็บน้อยที่สุด