ทวี สุรฤทธิกุล ร.6 ไม่ได้ล้มเหลวในการสร้างประชาธิปไตย แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะทรงไม่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่คนไทยตามพระราชปณิธานสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ทรงวางรากฐานที่นำไปสู่การก่อเกิดของประชาธิปไตยหลายประการ ประการแรก ทรงเป็นนักเสรีนิยม(liberalist) คือมีพระราชหฤทัยเปิดกว้างในการยอมรับการเข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ๆ ของโลก โดยส่วนหนึ่งก็ด้วยทรงศึกษาและประทับอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จึงทรงได้เห็นอารยธรรมใหม่ๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และส่วนหนึ่งโดยพระอุปนิสัยส่วนพระองค์ที่เป็นนักวรรณศิลป์แนวโรแมนติค(Romantics) ซึ่งต้องมีพฤตินิสัยแบบเสรีเป็นพื้นฐาน ดังจะเห็นในความละเอียดประณีตและพระราชจริยวัตรที่งดงาม รวมถึงความรู้สึกอันอ่อนหวานดื่มด่ำอยู่ในพระราชนิพนธ์ทั้งหลาย รวมถึงที่ไม่ได้เจ็บใจโกรธ ทรงเป็นผู้มีสปิริตของความเป็นนักกีฬา(Sportsmanship) “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ดังคราวที่พระราชทานอภัยโทษแก่กบฏ ร.ศ. 130 ใน พ.ศ. 2455 นั้น ประการต่อมา ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์และพระราชจริยวัตรที่ส่งเสริม “ระบบการเมืองใหม่” ดังที่ทรงได้ “ฝึกฝน” บรรดาขุนนางและข้าราชบริพาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นชนชั้นสูงและชนชั้นนำในสมัยนั้น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ “เรียนรู้ชีวิต” ในระบบการเมืองแบบใหม่ ที่เน้นเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่เรารู้จักกันในชื่อ “เมืองดุสิตธานี” ที่มีนัยยะลึกซึ้งกว่าแค่การ “เล่นบทบาทสมมุติ” แต่เป็นการสร้างให้คนเหล่านั้นมีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแม้ในทุกวันนี้เราก็ยังพร่ำบ่นกันว่าที่ประเทศของเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ด้วยไม่ได้ให้ผู้คนมีความรู้อย่างพอเพียงเกี่ยวกับชีวิตประชาธิไตยนี้เอง อีกประการหนึ่ง ทรงเห็นว่า “ความรู้และสติปัญญา” คือรากฐานสำคัญของการเป็นสังคมอารยะในแบบสมัยใหม่ ดังที่ได้ทรงสร้างเสริมสถานศึกษาในทุกระดับขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะระบบการศึกษาชั้นสูงตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งก็เป็นการสืบสานพระราโชบายของพระราชบิดาที่ทรงวางรากฐานเรื่องการศึกษาระดับมูลฐาน คือการศึกษาประชาบาลให้กระจายไปยังท้องถิ่นชนบทไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังทรงดำเนินพระองค์ในแนวที่ในยุคนี้เรียกว่า “โซเชี่ยลมีเดีย” คือเป็นสื่อกลางให้เกิดกระแสในความสนใจใฝ่รู้ ดังที่ได้ทรงดำเนินพระองค์เป็นนักสื่อสารมวลชน นักวรรณศิลป์ และนักวาทศิลป์ ที่มีการสื่อสาร 2 ทาง ให้ความรู้และข่าวสารต่างๆ แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นการสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้” สมดังพระราชสมัญญานามว่า “พระมหาธีรราชเจ้า” หรือ “พระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมปราชญ์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะได้พระนามว่า “กษัตริย์แห่งสามัญชน” ด้วยการวางพระองค์ที่ไม่ได้ “เจ้ายศเจ้าอย่าง” หรือเต็มไปด้วยพิธีรีตองมากมายเหมือนในอดีต แต่สิ่งนี้ก็กลายเป็นดาบสองคมที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพราะส่วนหนึ่งในเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูงก็ไม่ได้ดำเนินรอยตามพระองค์ไปโดยตลอด ถึงขั้นที่มีการดูหมิ่นดูแคลนกระทบต่อพระเกียรติยศอยู่เสมอ นำมาสู่การ “ได้ใจ” ของขุนนางระดับรองที่ไม่หวั่นเกรงในพระราชอาญา คิดลบหลู่พระเกียรติจนถึงขั้นคิดกบฏและกระทำจาบจ้วงหยาบช้าต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมไทย “เปิดกว้าง” คือทรงน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายด้วยขันติธรรม ทรงเปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์บ้านเมือง แต่ที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือพระราชอุดมการณ์ของ “ความรักชาติ” ที่ทรงเป็นทั้งแบบอย่าง ผู้นำ และผู้ทรงปลูกฝังอุดมการณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อันเป็นผลจากการที่ทรงยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ก็ต้องมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติที่มั่นคง เพื่อให้อยู่รอดได้ในนานาชาตินั้น รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคที่เรียกด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า “ยุคเปลี่ยนผ่าน” คือเปลี่ยนผ่านจาก “โลกเก่า” แบบที่เรียกว่า “ฟ้าสูง แผ่นดินต่ำ” คือพระมหากษัตริย์ทรงอยู่บนฟ้าสูงสุดเหนือราษฎรที่ต่ำสุดจนติดดิน ไปสู่ “โลกใหม่” แบบที่เรียกว่า “แผ่นฟ้าผืนดินเดียวกัน” คือพระมหากษัตริย์ที่โน้มพระองค์มาให้ราษฎรได้สัมผัสพระองค์อย่างใกล้ชิด ในสังคมที่เปิดกว้างและกำลังเกิดสิ่งใหม่ๆ มากมาย น่าเสียดายที่ทรงครองราชย์ไม่ยาวนานพอที่จะรอให้ “สังคมใหม่” เกิดขึ้นได้ตามพระราชปณิธาน ที่ผู้เขียนเรียกว่า “พระราชอุดมการณ์” นั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพระอนุชาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์สืบต่อ ก็ทรงได้สืบสานพระราชปณิธานของพระเชษฐาอย่างเข้มแข็ง ส่วนหนึ่งก็คงเป็นด้วยพระราชอัธยาศัยที่เป็น “นักประชาธิปไตย” อยู่เต็มพระองค์ไม่ต่างกับพระเชษฐา และส่วนหนึ่งก็น่าจะเนื่องด้วย “พระราชวิสัยทัศน์ใหม่” ที่ทรงหล่อหลอมขึ้นจากประสบการณ์ในสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ตั้งแต่ครั้งที่พระเชษฐาทรงครองราชย์อยู่นั้น “พระราชวิสัยทัศน์ใหม่” เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำในสมัยนั้นคาดคิดไม่ถึง นั่นก็คือรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐสภาขึ้นโดยเร็ว ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงให้มีการปรับเปลี่ยนองคมนตรีสภาจากสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ให้เป็น “สภาของแผ่นดิน” ที่เข้ามาทำงานร่วมกัน และการเตรียมให้มีรัฐธรรมนูญเพื่อจัดวางโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของประเทศเสียใหม่ รายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราวที่ตื่นเต้นอยู่เบื้องหลัง