“สื่อสารมวลชน” แบบรูปธรรมนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีมาหลายครั้งแล้ว เพียงแต่ในอดีตนั้น ความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่รุนแรงและรวดเร็วเท่าขณะนี้ ผู้คนจึงลืมเลือนไป
สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุดคือสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลต่อกระแสอารมณ์ทางสังคมมาก ช่วงนั้นแม้จะมีเมมีวิทยุแล้ว แต่ก็ยังเป็นวิทยุที่เรียกว่า “วิทยุหลอด” เครื่องมีขนาดใหญ่และราคาแพง
ครั้นเริ่มมีโทรทัศน์ ใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของวิทยุทรานซิสเตอร์ การเสพสื่อของมวลมหาชนเปลี่ยนแปลงไปมาก โทรทัศน์กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุด
แต่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังอยู่และเติบโตต่อไป เพราะยังสื่อ “ระบบคิด” ได้มาก ในขณะที่โทรทัศน์เสนอข่าวได้รวดเร็วแต่สั้น และ “ทุน” ยังใช้โทรทัศน์หากำไรจากด้านบันเทิงเริงรมย์เป็นหลัก
แต่การปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศคอมพิวเตอร์ส่วนตัว (PC) ยุคดิจิตอล นี่ รวดเร็วและรุนแรงมากกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งอดีต มันทำให้เกิดพื้นที่หรือเวที ที่ตอนนี้นิยมเรียกกันว่า Platform ใหม่ ที่ปราศจากคณะบรรณาธิการ
ปัจเจกชนถึงจะแสดงความคิดเห็น หรือปล่อยข่าวเท็จ อย่างไรก็ได้ ด้านหนึ่งมันเหมือนปลดปล่อยปัจเจกชนให้มีเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็ถูกใช้ด้วยมิจฉาจิต(พวกหลงผิด) และ ประทุษฐ์จิต (พวกชอบทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสังคม)ได้อย่างเต็มที่ จนสังคมทั้งโลกวิตกกันว่า ข้อมูลสารสนเทศในโลกเสมือนจริงไซเบอร์ขณะนี้ ล้วนเป๋นข้อมูลเท็จที่เชื่อถือไม่ได้ พื้นที่สื่อขณะนี้ กลายเป็นplatform ที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ ไม่รับผิดชอบกับการฃะเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่รับผิดชอบกับการก่อผลร้ายต่อคนอื่น ไม่รับผิดชอบต่อการทำร้ายสังคม กระทั่งทำร้ายประเทศชาติ
ในอดีตสื่อสารมวลชนนั้นยังมีกรอบที่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญ ม.ร.วคึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายแนวคิดตรงนี้โดยเทียบกับศัพท์ “ปลิโพธ” ทางศาสนาพุทธเมื่อจะเขียนอะไรลงหนังสือพิมพ์ คณะบรรณาธิการควรมีความห่วงกังวลอะไรต่ออะไรมากมาย คือมีปลิโพธมาก
ปลิโพธ คือ ความกังวล ความห่วงใย
เขียนให้คนหนังสือพิมพ์เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการกำกับตัวเอง หรือเซนเซอร์ตัวเอง
เซนเซอร์ในเรื่องที่จะทำลายประโยชน์ของพลเมืองไทย ทำลายประโยชน์ของชาติไทย
คงไม่ปฏิเสธว่า “ความจริง” บางเรื่องมันทำลายชาติได้
“ความจริง” แบบนั้น ถึงมันเป็นความจริง ก็ไม่นำมาเขียน