ในสถานการณ์ที่ไม่อาจไว้วางใจต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย แม้จะยังไม่พบการระบาดเป็นวงกว้าง แต่ความเปราะบางต่อปัญหาเศรษฐกิจก็สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล ที่ต้องทำงานอย่างหนักในการแก้ไขปัญหาฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะนี้ที่ยังอยู่ในภาวะสุญญากาศ ไร้บุคคลเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกไปอย่างกระทันหัน แม้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จะออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสหดตัวน้อยลงที่ลบร้อยละ 7.5 จากก่อนหน้าที่เคยคาดไว่ว่าจะติดลบร้อยละ 8 ถึงลบร้อยละ 10 โดยมองว่ามาตรการ “คนละครึ่ง” ที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการให้เงิน 3,000 บาทแก่ประชาชน 15 ล้านคนโดยใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาท จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ถึง 90,000 ล้านบาท และ หมุนเวียนในระบบได้ 2 รอบซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1-1.5 โดยเงินจะหมุนเวียนไปในผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยถึงความคืบหน้าการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้ผ่านการอนุมัติจากครม.ไปแล้วหลายโครงการ คิดเป็นเงินกว่า 45,091 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 47,308 ล้านบาท ซึ่งสศช.จะกลั่นกรองโครงการที่เหลือก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบภายในเดือนก.ย.นี้ โดยเงินส่วนใหญ่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจเดือนต.ค.63 โดยหากเงินก้อนนี้ผลักดันออกไปจนหมด คิดเป็นเงินกว่า 9.24 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเงินก้อนแรกที่จะเข้าไปจ้างงานได้ 4.1 แสนล้านตำแหน่ง และในช่วงถัดไป สศช.จัดทำมาตรการกระตุ้นในรอบที่ 2 เน้นการท่องเที่ยว จ้างงาน และพัฒนาทักษะ มีวงเงินอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะลงไปเป็นระยะๆ เหมือนที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าเงินจะลงไปเป็นระยะๆ ประมาณ 4 ครั้ง “ที่คณะกรรมการฯ ทยอยใช้เงินก้อน 4 แสนล้านบาท ไม่ได้ใช้ครั้งเดียวหมด เป็นเพราะว่ายังต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หากกลับมาระบาดรอบ 2 ก็จะมีวงเงินเหลือไว้ใช้จ่าย แต่หากโชคดีไม่มีการระบาดรอบ 2 เงินที่เหลืออยู่ก็จะนำไปใช้ในแพ็คเกจอื่นๆ ซึ่ง ศบศ. ก็กำลังคิดแพ็กเกจอยู่ หากมีการพิจารณารายละเอียดชัดเจนแล้ว จะเสนอครม.ต่อไป” นายทศพร ยังกล่าวถึงภาพรวมการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 100 ล้านบาท ด้านแผนงานเยียวยาผลกระทบจากไวรัสวิด-19 วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ใช้ไปแล้ว 2.9 แสนล้านบาท ยังเหลืออยู่ 2.1 แสนล้านบาท และในด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ขอใช้ไปแล้ว 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 4.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะมีทีมงานอยู่เบื้องหลังและการบริหารผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เป็นสำคัญ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่การเร่งหาตัวบุคคลเข้ามาเป็นขุนคลังที่ชื่อชั้นเป็นที่ยอมรับได้ไม่น้อยกว่าคนเดิมที่ลาออกไป เรียกว่าเป็น แบบดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น