เสือตัวที่ 6 การขับเคลื่อนงานการแก้ปัญหาความเห็นต่างจนนำไปสู่การแปลกแยกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อันเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งของขบวนการร้ายในพื้นที่ พยายามหาช่องทางในการหล่อหลอมบ่มเพาะความเห็นตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานศึกษาและคนในชุมชนเองก็ตามนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐ จะต้องเดินหน้าอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาความเห็นต่างเหล่านั้น เพื่อสนองตอบต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกันในอีกแง่มุมหนึ่ง ทั้งด้านความมั่นคง ร่วมกับการพัฒนาเพื่อความมั่นคงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและจริงจัง การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเห็นต่าง และนำไปสู่ความแปลกแยกของคนในพื้นที่นั้น นอกจากงานด้านความมั่นคงที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นแล้ว ยังจะต้องขับเคลื่อนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ควบคู่ไปด้วยอย่างมีจังหวะจะโคน โดยการเร่งรัดโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ที่มอบหมายให้ ศอ.บต. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการเปิดสนามบินเบตง เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะเชื่อว่า หากพื้นที่แห่งนี้ มีการพัฒนาให้เกิดความเจริญทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศมากขึ้น ก็เป็นโอกาสให้คนในพื้นที่ มีมุมมองที่เปิดกว้าง เล็งเห็นความเจริญที่เป็นโอกาสในชีวิตที่จะมีความสุขตามวิถีที่ตนเองเชื่อถือได้ มากกว่าการเดินหน้าร่วมมือกับกลุ่มหัวรุนแรงที่มัวแต่ทำลายความสงบสุข ขัดขวางความเจริญ ทำลายบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การกระทำดังกล่าวนั้น ขัดกับหลักการสำคัญทางศาสนาด้วยซ้ำ โดยการพัฒนาความเจริญในพื้นที่ควบคู่ไปกับการนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่ในด้านความมั่นคงนั้น จำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ จึงเป็นหัวใจสำคัญในความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของโครงการพัฒนาทั้งหลายของรัฐที่หยิบยื่นให้ และความร่วมมือของประชาชน จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะบ่งบอกว่า โครงการของรัฐ เป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ และความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ เป็นตัวชี้วัดว่า ประชาชนในพื้นที่ มีความเข้าใจในเจตนาอันบริสุทธิ์ของรัฐที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นหรือไม่ เพียงใด และย่างน้อย ความร่วมมือของพี่น้องในท้องถิ่น จะเป็นก้าวแรกในการให้ความร่วมมือในดานอื่นๆ กับรัฐต่อไป ซึ่งการที่จะพัฒนาโครงการใดๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องสร้างความเข้าใจกันเองก่อนเป็นลำดับแรก มองเป้าหมายสุดท้ายของโครงการในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่แห่งนี้อย่างเดียวกัน เพื่อจะได้ร่วมแรงร่วมใจมือกันสร้างความเข้าใจในแง่มุมใหม่ให้บังเกิดกับคนในพื้นที่ต่อไป ผ่านกิจกรรมที่เสริมสร้างและสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย ของเชื้อชาติ ศาสนาที่รัฐเรียกว่าพหุวัฒนธรรม ที่แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด หากแต่จะเดินหน้าตามแนวทางสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรง อันเป็นไปตามหลักการทางศาสนา บนพื้นฐานของความสงบสุข ความรัก ความสามัคคี และเพื่อให้มีความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องทนทุกข์อยู่กับความหวาดระแวงจากเหตุร้ายจากน้ำมือของกลุ่มคนหัวรุนแรงในขบวนการ และไม่ต้องทนทุกข์อยู่กับความล้าหลัง ห่างไกลความเจริญ อันเกิดจากการขัดขวางของคนกลุ่มนั้น ตัวอย่างหนึ่งของความพยายามของรัฐในการสร้างสรรค์ความเจริญ เพื่อความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชนปลายด้ามขวาน สร้างความเข้าในในความปรารถนาดีของรัฐตลอดจนพี่น้องคนไทยในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ก็คือ การที่ ศอ.บต.ได้จัดฝึกอาชีพพระราชทาน แก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน จ.ยะลา โดยมีผู้เข้าฝึกอาชีพ 86 คน สำเร็จหลักสูตร 76 คน คิดเป็นร้อยละ 90.69 นอกจากนี้ ยังได้มอบวัสดุอุปกรณ์แก่ผู้มีผลการเรียนดี ประพฤติดี เพื่อนำไปประกอบอาชีพ 31 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ‪2557-2563‬ ฝึกอาชีพไปแล้ว 6 รุ่น มีผู้เข้าร่วม 1,206 คน สำเร็จหลักสูตร 1,031 คน คิดเป็นร้อยละ 85.48 มีงานทำ 421 คน คิดเป็นร้อยละ 40.8 ซึ่ง ศอ.บต.มีแนวทางการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการคือ ผู้สำเร็จหลักสูตรมีงานทำ มีรายได้ เลี้ยงตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือ สร้างความเข้าใจกับรัฐมากขึ้นผ่านการสร้างโอกาสดีๆ ที่รัฐหยิบยื่นให้‬ ทั้งนี้ ตามโครงการดังกล่าว มีกลุ่มสำคัญที่ภาครัฐจะต้องดูแลเป็นพิเศษคือ กลุ่มผู้ขาดโอกาสทางสังคม ถือเป็นความรับผิดชอบที่ ศอ.บต.จะต้องทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำ มีรายได้ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และประสบความสำเร็จในชีวิต หากกลุ่มนี้ จบหลักสูตรแล้ว จะเกิดความภูมิใจในความเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมประเทศ จากการที่ตนเองประสบความสำเร็จ และเข้าสู่ตลาดแรงงานที่รัฐบาลจัดขึ้น เพื่อรองรับให้กับคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้เป็นพิเศษ คือ เมืองต้นแบบที่ 4 จะนะ หรืออุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งจะสามารถรองรับตำแหน่งงานหลายอัตรา ในทันทีที่อุตสาหกรรมเกิดขึ้น เหล่านี้ คือตัวอย่างดีๆ ที่ภาครัฐ พยายามสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้คนในพื้นที่แห่งนี้เฉกเช่นเดียวกับคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ทั้งยังเป็นโอกาสให้คนในพื้นที่มีหู มีตาที่กว้างขวางในมุมมองต่อคนอื่นๆ ที่จะแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนความแตกต่างทางกายภาพและวิถีชีวิต อันจะเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจระหว่างกันของคนไทยทุกกลุ่มทุกฝ่ายให้นำศักยภาพของตนมาพัฒนาชีวิตของตนเองเพื่อคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของตนมากกว่าการจ้องทำลายล้างกันอย่างไร้เหตุผล