ทวี สุรฤทธิกุล
พลเอกประยุทธ์จะโดนรัฐประหาร ลาออกเอง หรือถูกขับไล่?
ข่าวการรัฐประหารที่มาพร้อมกับกระบวนยุทโธปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายเพื่อการฝึกซ้อมตามปกติของกองทัพในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คนที่สนใจการเมืองเกิดความตื่นตัวและตั้งคำถามกันมากมาย คำถามหนึ่งก็คือ “ใครรึที่คิดจะยึดอำนาจจากพลเอกประยุทธ์” เพราะถ้าเป็นไปตามทฤษฎีการเมืองไทย คนที่จะยึดอำนาจได้ก็มีแค่ “ทหาร” เท่านั้น ซึ่งก็จะต้องอาศัยปัจจัยหลักอย่างน้อย 3 อย่างคือ หนึ่ง ความเป็นปึกแผ่นของทหาร สอง ความกล้าหาญของผู้นำเหล่าทัพ(ในที่นี่ก็คือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้บัญชากรทหารบก) และสาม วิกฤติบางอย่างในบ้านเมืองเพื่อเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ
ในปัจจัยสองตัวแรกไม่ค่อยจะเป็นปัญหาของคนที่เป็นผู้นำทหาร เพราะทหารถูกอบรมฝึกฝนให้มีระเบียบวินัย การเคารพรุ่นพี่และการดูแลรุ่นน้องถือเป็น “แก่นวิญญาณ” ของความเป็นทหาร เพราะฉะนั้นความเป็นปึกแผ่นของทหารก็แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของผู้นำเหล่าทัพ ที่นำมาสู่การตัดสินใจที่จะยึดอำนาจได้ง่ายๆ ก็เกิดจากวัฒนธรรมองค์กร ที่กองทัพจำเป็นจะต้องมีผู้นำในแบบนั้น มิฉะนั้นกองทัพก็จะไร้ประสิทธิภาพ และไม่อาจปกป้องให้ความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ประชาชนในประเทศได้
ส่วนปัจจัยตัวที่สาม คือวิกฤติต่างๆ นั้น ก็มีทั้งวิกฤติที่เกิดขึ้นเอง กับวิกฤติที่มี “ใคร” สร้างขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติในกรณีใด ก็จะต้องมีความสอดคล้องอย่างเหมาะเจาะกับ “อารมณ์ของสังคม” เช่น ความเบื่อหน่ายนักการเมือง หรือเบื่อหน่ายความขัดแย้ง เป็นต้น ซึ่งอาจจะถือว่าปัจจัยเรื่องวิกฤตินี้มีความสำคัญที่สุดในการทำรัฐประหารในทุกครั้ง เพราะจะทำให้ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น และได้รับความชอบธรรมมากขึ้น
อารมณ์ของสังคมไทยในขณะนี้มี 2 กระแสใหญ่ๆ กระแสแรกคือ “กระแสเบื่อลุงตู่” ที่เป็นมาตั้งแต่ที่พลเอกประยุทธ์ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในวันที่ทำการยึดอำนาจ รวมถึงกับความพยายามในการสืบทอดอำนาจ ด้วยการ “บิดเบือน” กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ที่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์และสภาปฏิรูปประเทศในปี 2558 จนกระทั่งไปใช้บริการ “อาจารย์มีชัย” เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ “บิดเบี้ยวที่สุด” ในหมู่รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ความเบื่อลุงตู่ยิ่งมีมากขึ้นเมื่อลิ่วล้อบริวารไปร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ด้วยการรวบรวมนักการเมืองทุกรูปแบบมาขยำรวมเป็นพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งผิดไปจากคำพูดเดิมของพลเอกประยุทธ์ที่เคยบอกว่าเกลียดกลัวนักการเมืองพวกนี้ และจะพยายามกำจัดให้หมดไปให้ได้(แต่ก็ทำไม่ได้ ทั้งยังทำตรงกันข้าม คืเอามาเป็น “หมอนหนุน” รองรับอำนาจของตัวเองอีกด้วย) ที่สุดของความเบื่อหน่ายนั้นก็คือ ผ่านไป 6 ปี ทั้งที่มีอำนาจ “ล้นฟ้า” ก็ไม่สามารถปฏิรูปประเทศตามที่ได้ประกาศไว้ จนถึงขั้นที่ได้เอามาเขียนเป็นยุทธศาสตร์ชาติไว่ในรัฐธรรมนูญ (และใช้อ้างเป็นเหตุผลหนึ่งของการมีวุฒิสภา ว่าก็เพื่อเอาไว้ติดตามแผนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งก็ไม่ได้ทำอะไร) อันนำมาซึ่งกระบวนการ “ขับไล่ลุงตู่” ทั้งในและนอกสภาอยู่ในขณะนี้
อีกกระแสหนึ่ง คือ “กระแสห่วงอนาคต” แม้ว่าลุงตู่อาจจะมีบุญมากๆ ที่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ มาช่วย “ยืดอายุขัย” มาตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่รวมถึง “โควิด-19” ที่มาช่วยลุงตู่ไว้ในปีนี้ด้วย แต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 กลับทำให้สังคมไทยมองเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วการควบคุมโควิทที่ได้ผลเป็นอย่างดีในประเทศไทยนี้ เป็นเพราะความกลัวของคนไทยมากว่า จึงทำให้คนไทยยอมที่จะเชื่อฟังผู้มีอำนาจ และยิ่งมีอำนาจเด็ดขาดก็ยิ่งมีความน่ากลัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามวิกฤติโควิด-19 นี้ก็ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่เอาไหนของนักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาล เช่น ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหน้ากากอนามัยราคาชิ้นละ 2 บาท 50 สตางค์ขายในท้องตลาด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คุยโม้ไว้ หรือ อสม.ทำงานเข้มแข็งกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองท้องถิ่นทำงานมีกึ๋นมากกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
เมื่อคนรุ่นใหม่มองเห็นฝีไม้ลายมือของรัฐบาลว่าที่สุดก็ทำได้แค่นี้ พวกเขาก็เริ่มมีความเป็นห่วงว่า “แล้วอนาคตของพวกเขาหละจะเป็นอย่างไร” และยิ่งมองเห็นว่าถ้ายังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ ประเทศไทยก็จะได้รัฐบาลแบบนี้และนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารไปเรื่อยๆ แบบนี้ เยาวชนทั้งหลาย(ที่อาจจะมีใครไปปลุกปั่นอยู่ด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนเสริมและการฉวยโอกาศ)ก็เลยยิ่งมีความเป็นห่วงอนาคตของพวกเขาเอง ดังนั้นไม่ว่ากระบวนการม็อบปลดแอกทั้งหลายจะไปได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็ตาม แต่การบ่มเพาะกระแสการเบื่อทหารและรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไป และยิ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะถูกปราบปรามและกีดกั้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เยาวชนยุคนั้นใช้เวลาเพาะบ่ม “ความเบื่อทหาร” มากว่าสิบปี (ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์มาจนถึงยุคจอมพลถนอม) ก็สามารถโค่นล้มทหารได้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ดังกล่าว (แต่ก็ต้องยอมรับว่าทหารยอมถอยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยแท้ ที่ทรงเข้ามาช่วยประนีประนอมความขัดแย้งในครั้งนั้น)
อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะพอตอบคำถามแรกได้แล้วว่า ใครที่จะทำคิดจะยึดอำนาจจากพลเอกประยุทธ์ ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นพวกเยาวชนปลดแอกที่กำลังร้องเย้วๆ อยู่นี่เอง แต่พวกเขาอาจจะยังทำไม่สำเร็จในเวลาอันใกล้นี้ เว้นแต่จะมี “ป๋าใจดี” ในกองทัพออกมาสนับสนุน ที่ก็ยังมองไม่เห็นในตอนนี้ เพราะลุงตู่ท่านวางหมากกลไว้ทุกเหล่าทัพอย่างแน่นหนา ยากที่จะมี “งูเห่า” มาทำร้ายลุงได้
สัปดาห์หน้ามาดูคำตอบว่า ลุงตู่จะทำอย่างไร จะลาออกเอง หรือให้ “ใคร” บีบออก