ปัญหาครูต้องแบกรับภาระหนี้สินแทนศิษย์ เช่นเรื่องราวของ นางวันดี จินา อายุ 77 ปี อดีตคุณครูโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์บ้านและที่ดิน ทำให้คุณครูต้องใช้เงินบำนาญและปลูกผักขายตามตลาดนัดเพื่อนำเงินไปผ่อนชำระหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ.แทนศิษย์ ตามสัญญาไกล่เกลี่ย 24 งวดจนถึงวันที่ 5 พ.ย. 2563 นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดซ้ำซากและปรากฏอยู่ทั่วประเทศ เพียงแต่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนเด็กผู้กู้เท่านั้น นายประกอบ รัตนพันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางในการการบริหารจัดการชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ประเด็นที่สร้างความสับสนให้ผู้กู้เข้าใจว่า เงินที่ให้กู้ยืมไม่ได้เป็นเงินให้เปล่า ผู้กู้ทุกรายจะต้องชำระหนี้ ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนยกเว้นเพียงผู้พิการที่ไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ หรือกรณีได้รับอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ผู้รับรองรายได้ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน มีหน้าที่รับรองว่าผู้กู้หรือผู้ปกครองของผู้กู้ มีรายได้ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ โดยผู้รับรองเงินเดือนเป็นข้าราชการ แต่ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลใดก็ได้ กองทุน กยศ. ขณะนี้มีเงินมากพอให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถกู้ได้ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็น ทุกคน และไม่ต้องเปลี่ยนแปลงศาสนา ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ขณะนี้ ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางในการการบริหารจัดการชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรที่มี นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ระบุว่าขณะนี้มีเงินหมุนเวียนทั้งหมด 6.22 แสนล้านบาท เป็นเงินกองทุนหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนี้ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศ เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ และช่วงคณะกมธ.ศึกษาอยู่ ก็เกิดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กองทุนมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ในอัตราสูงถึงร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ คิดเป็นเงินต้นค้างชำระทั้งหมด 78,643 ล้านบาท ทางคณะกรรมาธิการจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ โดยจะต้องผลักดันให้การบริหารจัดการชำระหนี้กยศ. ได้รับการช่วยเหลือดูแลและแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน , กรณีที่รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะมีมาตรการทางช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้ว ยังมีค่าครองชีพอีก 300 บาทด้วย , มีข้อเสนอให้แก้ไขปัญหาการชำระหนี้ เพื่อเสถียรภาพของกองทุน , และแนวทางข้อเสนอแนะการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนเพื่อความยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ มีการเสนอความเห็นจากหลายฝ่าย หนึ่งในความเห็นต่างๆนั้น คือการยกเลิกหนี้คงค้าง กยศ.ให้หมด แล้วเริ่มต้นใหม่ และการพักชำระหนี้ให้ เราเห็นว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรร่วมหารือกันอย่างจริงจัง ถึงแนวทางการยกเลิกหนี้นั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ และกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ที่ต้องพิจารณาควบคู่กัน โอกาสที่จะยกเลิกหนี้น่าจะเป็นทางออกสำคัญ และเมื่อยกเลิกแล้วก็มาจัดระบบการกู้ยืมเงิน กยศ.กันใหม่ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพ ในการกำกับและติดตาม เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ที่สำคัญ การลงทุนไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างอนาคตของประเทศชาตินั้น ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็คุ้มค่าที่จะลงทุน ดีกว่านำงบประมาณไปละลายในเรื่องอื่นๆ