การต่อสู้กับ "รัฐบาล" ภายใต้การนำของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของ "พรรคก้าวไกล" ที่รับไม้ต่อจาก "พรรคอนาคตใหม่" ในโมงยามนี้ ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดาย หรือราบรื่น อย่างที่หวัง ! ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ทั้งในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการใช้เกมแก้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการเปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งตัวนายกฯประยุทธ์ และรัฐบาล ควบคู่ไปกับการประสานมือ "กลุ่มการเมืองภาคประชาชน" ปลุกระดมมวลชน ทั้งประชาชน ไปจนถึงนักเรียน นักศึกษา แม้หลายครั้งหลายคราว แกนนำทั้งจากคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลัง การชุมนุมก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นคือการที่บรรดาส.ส.ของพรรคก้าวไกล และแกนนำคณะก้าวหน้า ไปร่วมกิจกรรมชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทั้งที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ที่นำหน้าโดยกลุ่มนักเรียน ไปจนถึงการไปช่วยประกันตัวแกนนำที่ถูกจับ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง วาระสำคัญที่พรรคก้าวไกล ต้องการผลักดัน ซึ่งถือเป็น "เป้าหมายหลัก" ที่จะต้องเดินหน้าให้บรรลุผล นัน่คือการ "ร่างรัฐธรรมนูญใหม่" ไม่ใช่แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น อีกทั้งยังต้องการ "ปิดสวิตซ์สว." ก่อนวันประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาล พบว่าบรรยากาศของพรรคก้าวไกลเต็มไปด้วยความชื่นมื่น ด้วยเหตุที่งานนี้ได้ "กลุ่มกบฎ" ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ขอแก้ไขมาตรา 272 ของพรรคก้าวไกลที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. คือการที่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม ร่วมยื่นรายชื่อกับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต่อ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา โดยเป็นการรวบรวมรายชื่อ "99 ส.ส."จาก 13พรรคการเมือง ที่น่าสนใจคือการที่ในรายชื่อ 99 คนนั้น ยังมีความซับซ้อนกันในความขัดแย้ง แฝงเข้าไปด้วยในคราวเดียวกัน เมื่อมีชื่อ ของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับไม่มีชื่อของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เป็นฝ่ายค้านเหมือนกัน ! แต่แล้ว ในวันที่ 9 ก.ย.ก็เกิดรายการพลิกผัน เมื่อมีการ "ถอนชื่อ" ออกจากญัตติ ไม่ร่วมขบวนไปกับพรรคก้าวไกล อย่าง "สุรทิน พิจารณ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ยอมรับกับสื่อว่า วิปรัฐบาลมาขอร้องให้ถอนชื่อออกเพื่อความเป็นเอกภาพของรัฐบาล "เมื่อพิจารณาแล้วโดยมารยาทการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันจึงถอนชื่อให้ โดยยื่นหนังสือขอถอนชื่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว เมื่อเช้าวันที่ 9 ก.ย. ส่วนที่การไปลงชื่อในญัตติขอแก้ไขมาตรา 272 ร่วมกับพรรคก้าวไกลนั้น เป็นการลงชื่อไว้นานแล้ว" เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนได้ทยอยถอนชื่อออกจากญัตติร้อนๆ ด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานว่าโดน "แกนนำพรรค"กดดัน เพราะต้องการให้เกิดเอกภาพ และยังถือเป็นมารยาทของพรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคพลังประชารัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้พรรคก้าวไกล ได้เห็นแล้วว่าแท้จริงแล้วในเกมการต่อสู้ บนสังเวียนการเมืองนั้น หนึ่งบวกหนึ่ง อาจไม่ได้ผลลัพธ์เท่ากับสอง เป็นไปตามสูตรคณิตศาสตร์ ไปเสียทั้งหมด โปรดอย่าลืม "ตัวแปร" ที่นอกเหนือการควบคุม ที่อาจทำให้ เกิดการพลิกล็อค ในนาทีสุดท้ายได้เสมอ !!