แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนสิงหาคม 2563 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่มาอยู่ที่ระดับ 45.7 จากทิศทางของความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นของเกือบทุกธุรกิจในภาคการผลิตนำโดยกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ได้อานิสงส์จากการทำโปรโมชั่นและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ขณะที่ดัชนีฯของภาคที่มิใช่การผลิตค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารปรับดีขึ้น คาดว่าเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ส่วนความเชื่อมั่นของกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ลดลงหลังจากที่ปรับดีขึ้นมากในเดือนก่อน ทั้งนี้ แม้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจมีสัญญาณฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแต่ ยังต่ำกว่าระดับ 50 และต่ำกว่าก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระนั้นยังถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความอึมครึมทางการเมือง ปัจจัยจากการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ขณะที่ยังอยู่ในสุญญากาศไร้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ประกอบกับความวิตกกังวลที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบการติดเชื้อรายใหม่หลังปลอดผู้ติดเชื้อมานานกว่า 101 วัน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความเป็นไปได้หากประเทศไทยจะเข้าสู่การระบาดระลอกสอง ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนและขึ้นอยู่กับว่าไทยต้องปิดเมืองรอบสองหรือไม่ หากปิดเมืองรอบสอง ตัวเลขจีดีพีที่หดตัวติดลบ 12.2% ในไตรมาสสองจะไม่ใช่จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เป็นตัวกำหนดการใช้จ่ายภายในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้จะเป็นอย่างไร ประเมินในเบื้องต้นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดระลอกสองต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศอาจจะรุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรก หากการระบาดระลอกสองนำไปสู่การปิดเมืองแบบเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมอีกครั้งหนึ่ง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งระบุว่า “วันนี้อ่านบทวิเคราะห์ในอเมริกา เขาบอกว่าผลกระทบเริ่มเปลี่ยนเดิมที่มีคนตกงานเยอะ แต่เป็นงานระดับล่าง ซึ่งมันก็เป็น เรื่องปรกติของล็อกดาวน์เมื่อคลายล็อค การจ้างงานก็กลับมา แบบนั้นยังไม่น่าห่วงมากในแง่เศรษฐกิจ แต่ตอนนี้แม้มีการจ้างงานมากขึ้น แต่กลุ่มคนตกงานเริ่มเปลี่ยนเป็นคนในบริษัทใหญ่ๆ ระดับสูงขึ้น ซึ่งน่าห่วงมากกว่าเหตุผลคือบริษัทเหล่านี้เริ่มมองโลกหลังโควิดไม่เหมือนเดิม ผลกระทบลึกนานกว่าเดิม ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนหากอยากรักษาบริษัทให้รอดและแข่งขันได้ โครงสร้างต้องเปลี่ยนตามและเปลี่ยนถาวร ใครตกงานตอนนี้หมายถึงโอกาสหางานด้านเดิมในอนาคตไม่ง่าย เพราะเมื่อบริษัทหนึ่งเปลี่ยน ในกลุ่มนั้นก็เปลี่ยนตามกัน ในไทยเราก็ทราบว่า ผลกระทบหนนี้ต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจที่แล้วมา เพราะคนระดับรากหญ้าโดนมากกว่า แต่ถ้าอเมริกาเป็นต้นแบบ เราเดินตามไปทางนั้น ผลกระทบจะเริ่มลามขึ้นมาระดับมนุษย์เงินเดือนมากขึ้น ภาครัฐอาจช่วยจ้างแรงงานระดับล่าง เดือนละหมื่นห้า ได้เป็นหมื่นๆ ตำแหน่ง (โปรล่าสุดที่ทราบ จ้างบัณฑิตเพิ่งจบแบบหารสอง บริษัทครึ่งหนึ่ง รัฐช่วยครึ่งหนึ่ง) แต่ถ้าเป็นพนักงานเฉพาะด้าน เงินเดือนหลายหมื่น ตกงานกันเยอะคงช่วยยากหน่อย” เราเห็นว่า ทางออกของสถานการณ์ คือนอกจากรัฐจะช่วยจ้างงานแล้ว ต้องสร้างงานและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจหาเงินใหม่เกิดขึ้นในยุคโควิด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้คนล้มได้มีโอกาสได้ลุกขึ้นได้บ้าง และฉุดภาคส่วนอื่นๆ ขึ้นไปด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน