สถาพร ศรีสัจจัง
การเรียนรู้และความเป็น “ทาส” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการของมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง เราจะพบว่า คำ “ยุคสมัย” เป็นคำนิยามที่มีความสำคัญยิ่ง ในแง่วิธีวิทยาเพื่ออธิบายถึงเนื้อในแห่งพัฒนาการของมนุษยชาติดังกล่าว มีสำนักคิดหลักๆไม่น้อยสำนัก ที่พยายามสร้างเกณฑ์หลักคิดเพื่อให้เรื่องดังกล่าวเป็น “วิทยาศาสตร์สังคม” ( Social science)ที่สามารถอรรถาธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
สำนักหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษคือสำนักคิดที่ใช้หลัก “ความขัดแย้งของสิ่ง” มาอรรถาธิบายถึงพลังแห่งการเคลื่อนเปลี่ยนของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาล
และนำมาปรับใช้ในการอธิบายพัฒนาการของ “สังคมมนุษยชาติ!”ให้เห็นได้อย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรม
โดยหลักการที่เรียกและรู้จักกันว่า “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (Historical materialism)พวกเขาอธิบายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไว้ สังเขปได้ประมาณว่า :
เริ่มตั้งแต่มนุษย์พัฒนามาเป็นสิ่งมีชีวิตในสกุลที่เรียกว่า “โฮโมซาเปียน” แล้ว สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ถูก “สัญชาตญาณแห่งความต้องการอยู่รอด” ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในทางกายภาพ ผลักดันให้เกิด “วัฒนธรรมการเรียนรู้” จากสมองอันมีลักษณะพิเศษ จนก่อเกิดการรวมกลุ่มพึ่งพิงกันเพื่อการอยู่รอดของชีวิต กลายเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนเพื่อแสวงแหล่งอาหารและที่พักเพื่อการยังชีพที่ปลอดภัย
พวกเขาเรียกกลุ่มมนุษย์ในเงื่อนไข “ยุคสมัย” เช่นนั้นว่ายุค “ชุมชนบุพกาล” ( Primitive commune society)
และเพราะมนุษย์มีพลังพิเศษด้านสมองที่มีศักยภาพในการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัดดังที่ได้ยกเอาความเห็นของอาจารย์คุณหมอประเวศ วะสี มากล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วนั่นเอง เมื่อกลุ่มเร่ร่อนของพวกเขาเริ่มเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม กล่าวคือ เริ่มมีการเพาะปลูกโดยเฉพาะธัญญพืช,เพื่อใช้เป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิต พวกเขาก็เริ่ม “ยึดพื้นที่” คือมีแผ่นดินเป็น “สิทธิ์”ของกลุ่ม ความขัดแย้งเพื่อการ “ถือครอง” ผลผลิตและที่ทำกิน ทั้งภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มจึงเริ่มเกิดขึ้น
เกิดการแบ่ง “ชนชั้น” ทางสังคม ทำให้คนและ “กลุ่ม” ที่แข็งแรงกว่า (มีพลังการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆที่ก้าวหน้ากว่า)กลายเป็น “ผู้ชนะ” ในการต่อสู้ในเหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้น การแพ้และชนะนี่เองที่ก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ยุคทาส” หรือ “ระบบทาส
“ ให้เกิดขึ้นตามมา
ยุคทาสนี้เองที่กลายเป็นฐานการพัฒนาเข้าสู่ระบบที่ยิ่งใหญ่ยาวนานอีก “Stage” หนึ่งของมนุษย์ที่รู้จักกันในนาม “ยุคศักดินานิยม” ( Feudalism)
และโดยความสามารถในการเรียนรู้อย่างไม่มีข้อจำกัดอีกของมนุษย์อีกนั่นแหละ ที่ทำให้การต่อสู้
ระหว่าง “นายทาส” กับ “ทาส” (ที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน) และระหว่างชนชั้น “ศักดินา” กับ “ไพร่” เกิดขึ้นในทุกกลุ่มทุกสังคมของพวกเขา(ลองไปดูหนังฝรั่งเรื่อง “สปาตาคัน” เป็นตัวอย่าง) เพื่อปลดปล่อยคนส่วนใหญ่ออกจากความเป็นทาสและความเป็นไพร่ อันก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตอันยิ่งใหญ่แบบใหม่ในยุคสมัยต่อมา
และยาวนานเติบใหญ่เกรียงไกรจนยากที่ใครจะโค่นล้มได้(ไม่เชื่อให้ลองถามหัวโจกใหญ่ที่ชื่อ “อเมริกา” หรือ ผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งยิ่งใหญ่กว่า ที่รู้จักกันในนามขบวนการ “Zionist” นั่นไง)มาจนถึงยุคปัจจุบัน!
สำนักคิด “ว่าด้วยความขัดแย้ง” เรียกระบบที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า “ระบบทุนนิยม” (Capitalism)!
พวกเขาโดยเฉพาะเจ้าสำนักใหญ่ที่ชื่อ ดร.คาร์ล มาร์กซ์ ชายชาวเยอรมัน ยังอธิบายผลการศึกษาวิจัยส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับ “ระบบทุนนิยม” ไว้อย่างพิสดารน่าสนใจยิ่ง (แม้ช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ “ทุนนิยม” จะยังไม่เข้าสู่ความเป็น “ดิจิทัล” ที่แสนจะรวดเร็วพิสดารมหัศจรรย์ในยุค “กลอบบอลไลซ์” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) เฉพาะเอกสารหนังสือชุดยิ่งใหญ่ของเขาที่ชื่อ “ดาส คาปิตาล” (The capital)ซึ่งว่ากันว่า เป็นหนังสืออีกชื่อหนึ่งที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดในโลกปัจจุบัน (ทั้งๆที่ฟังมาว่า มีคนที่อ่านจบจริงๆและเข้าใจอย่างลึกซึ้งน่าจะมีจำนวนไม่เกินเลข 4 หลัก)
จะอย่างไรก็ตาม ฟังว่ารูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมนี้เอง ที่ได้ผลิตสร้างรูปแบบวัฒนธรรมการปกครอง(การเมือง)ชุดสำคัญขึ้นชุดหนึ่งขึ้น เป็นชุด “โครงสร้างชั้นบน” ( Super structure) ของสังคมทุนนิยมทั่วไป ระบบการปกครองดังกล่าวเรียกชื่อเป็นปัจจุบันว่า “ระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม” (Democracy liberalism)
ฟังว่าระบบดังกล่าวนี้แตกหน่อก่อเชื้อเข้มแข็งขึ้นมาพร้อมกับระบบทุนนิยมในยุโรป แต่ไป “ฮอต” และร้อนแรงโดยรูปแบบขึ้นมากๆที่ประเทศเกิดใหม่เมื่อ 200 กว่าปีก่อนคือประเทศ “สหรัฐอเมริกา” The United state of
America) พร้อมกับการชู “แก่นของระบอบประชาธิปไตย” 3 ประการ ตามคำประกาศของนายจอร์จ์ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนดังในอดีตของประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งนั้น
คือคำประกาศที่ว่า “เสรีภาพ(Liberty) เสมอภาค(Equality) และ ภราดรภาพ(Brotherhood หรือ Fraternity)”!
แต่ในระบบที่คำโฆษณาดูหรูเลิศอลังการสำหรับมนุษย์เช่นนี้แหละ ที่กวีคนดังชาวกานาชื่อ “โดโฮ” กล่าวระบุว่า ความเป็น “ทาส” ยังคงดำรงอยู่ และหลายใครก็ต่างยืนยันว่าตรงกันว่า “ความเป็นทาส” ดูเหมือนจะยิ่งรุนแรงและซับซ้อนขึ้นมากในระบบดังกล่าวนี้ รุนแรงและซับซ้อนจนแม้กระทั่งคนที่เป็นทาสเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองคือ “ทาส”!!!!