ทวี สุรฤทธิกุล
ไม่มีอะไรน่าเสียดายหรือเสียใจสำหรับพรรคที่ชื่อ “กิจสังคม”
ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคม ทางกรรมการบริหารพรรคก็ให้พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา เป็นหัวหน้าพรรคแทน โดยยังคงสามารถนำพรรคกิจสังคมสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2531 ได้ดีพอควร คือได้ ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับที่ 2 รองจากพรรคชาติไทย จึงได้ร่วมกับพรรคชาติไทย ที่มี ส.ส.มากที่สุด จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีพรรคการเมืองอีก 3 พรรคร่วมด้วย คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทย และพรรคประชากรไทย เพื่อให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากพอควร
ตอนนั้นผู้เขียนเพิ่งมาทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ยังไม่ถึงปี ก็ถูกเรียกไปช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ในตำแหน่งประจำสำนักเลขานุการรัฐมนตรี ที่มี ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ส.ส.เชียงใหม่ของพรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรี จึงได้พบว่า “การเมืองภาคปฏิบัติ” ช่างเป็นเรื่องที่ลึกล้ำและยากแก่การทำความเข้าใจจริงๆ ตอนที่ ดร.สุบินมาแจ้งกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าจะขอให้ผู้เขียนไปช่วยทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ ท่านบอกว่าต้องการเอาไปเป็น “ยันตร์กันผี” เนื่องจากผู้เขียนเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะในตอนนั้นว่าเป็นผู้ใกล้ชิดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ คงจะพอสร้างความเกรงใจให้กับนักการเมืองบางคนได้ ทั้งยังรู้จักกับ ส.ส.ของพรรคกิจสังคมหลายคน คงจะพอ “ต้อนรับขับสู้” ส.ส.เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
ในเรื่องการต้อนรับขับสู้กับ ส.ส. ผู้เขียนได้ทำมา “อย่างหนัก” ตั้งแต่ที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่บ้านสวนพลู มาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 นั่นแล้ว พอได้มาทำงานแบบเดียวกันที่กระทรวงพาณิชย์ก็พอจะรับมือกับ ส.ส.เหล่านั้นได้ดีพอสมควร เพราะส่วนใหญ่ที่ ส.ส.เหล่านั้นมาหาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เหมือนกับที่มาหารัฐมนตรีที่กระทรวงพาณิชย์ คือส่วนใหญ่มาขอความช่วยเหลือ พูดตรงๆ คือ มาขอเงิน ด้วยคิดว่าคนระดับรัฐมนตรีนี้ต้องมีรายได้มากมาย รวมถึงมาเสนอช่องทางในการ “ทำมาหากิน” ให้กับรัฐมนตรี ที่บางทีผู้เขียนก็ต้องไปเจอผู้คนเหล่านั้น(หมายถึงบรรดาพ่อค้าและนักแสวงหาประโยชน์ทั้งหลาย) จึงได้ทราบว่านักการเมืองล้วนแต่ “เสียผู้เสียคน” ก็จากพวกคนแบบนี้ เช่นเดียวกันกับ ดร.สุบิน ที่พอมีการรัฐประหารใน พ.ศ. 2534 ก็เป็นคนหนึ่งในคณะรัฐบาลของพลเอกชาติชายที่ถูกฟ้องข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และต่อมาก็ถูกยึดทรัพย์เป็นจำนวนหลายร้อยล้าน ในขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกหลายคนหลุดพ้นไม่ถูกยึดทรัพย์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะซ่อน “ใบเสร็จ” ได้แนบเนียนกว่ากัน รวมถึง “เส้นสาย”และ “แรงจ่าย” ในการวิ่งเต้นเพื่อให้รอดพ้นจากการทำความผิดนั้นด้วย
พรรคกิจสังคมยังคงลงเลือกตั้งมาอีก 2-3 ครั้ง โดยได้ ส.ส.เข้ามาไม่มาก ทั้งนี้ก็มี ส.ส.ของพรรคบางคนไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นๆ จนถึงการเลือกตั้งในปี 2544 ก็ “สูญพันธุ์” ไม่มีชื่อของพรรคกิจสังคมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกต่อไป เพราะบรรดาแกนนำที่เคยได้ดิบได้ดีในสมัยที่มีพรรคกิจสังคม ต่างก็เข้าซบไปอยู่กับพรรคใหม่ที่มาแรงมากในยุคนั้นคือ “พรรคไทยรักไทย” ไปทั้งหมด หลายคนยังเกาะกลุ่มกันอยู่อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าพรรคไทยรักไทยจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคอะไรๆ มากี่พรรคแล้วก็ตาม แต่บางคนก็แตกกระสานซ่านเซ็นเป็น “สัมภเวสี” ไปอยู่พรรคโน้นบ้าง พรรคนี้บ้าง วนเวียนไปหลายๆ พรรค จนถึงในขณะนี้ก็มีอยู่หลายคนที่มาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพอดูสถานภาพแล้วก็น่าจะ “หมดพลัง” และใกล้จะ “สูญพันธุ์” หรือน่าจะถูกอัปเปหิออกไปจากวงการการเมืองไทยในอีกไม่ช้านี้
ใน พ.ศ. 2536 ที่ผู้เขียนกลับไปสอนหนังสือดังเดิม ได้เสนอทางมหาวิทยาลัยขอทำโครงการวิจัยเรื่อง “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากคำบอกเล่าของศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ด้วยการบันทึกวิดีโอ โดยพาทีมงานในการบันทึกวีดิทัศน์ไปถ่ายทำถึงบ้านสวนพลู แล้วให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าเรื่องการเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน(ในตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่) กะว่าจะบันทึกให้ได้สัก 10 เทป คือ 20 ชั่วโมง บันทึกสัปดาห์ละ 2-3 เทป ก็น่าจะใช้เวลาทั้งหมดราวๆ 4-5 สัปดาห์ แต่ว่าพอทำไปในสัปดาห์แรกได้แค่ 2 เทป ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ป่วยหนักต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล(โดยไม่ได้ออกมาอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 9 ตุลาคม 2538) โครงการวิจัยดังกล่าวจึงต้องระงับไว้
ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมและเฝ้าไข้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เป็นประจำ โดยท่านชอบที่จะให้พวกเราลูกศิษย์ลูกหาที่ไปเยี่ยมและอยู่เฝ้าไข้เหล่านั้น สั่งข้าวปลาอาหารมากินกันต่อหน้าคนไข้ นัยว่าจะได้ช่วยให้ท่าน “เจริญอาหาร” และกินอาหารของผู้ป่วยได้บ้าง ซึ่งตัวผู้เขียนนี้ได้รับรสนิยมการบริโภคมาจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พอสมควร จึงรู้ว่าท่านชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร จึงสั่งที่ท่านเคยชอบรับประทานมาให้ท่านได้ “รับชม” อยู่เป็นประจำ พร้อมกับพูดคุยกันในเรื่องตลกโปกฮา ให้คนไข้ได้รับความบันเทิงใจ จนถึงต้นปี 2538 ท่านก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ห้องไอซียู บรรยากาศแห่งความสุขจึงยุติลง จนกระทั่งความเศร้าได้เข้ามาในปลายปีนั้น
ผู้เขียนเคย “ทะลึ่งถาม” (เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรถามในเวลาที่ไม่เหมาะสม)ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในตอนที่ท่านนอนป่วยติดเตียงอยู่นั้นว่า ท่านเป็นห่วงบ้านเมืองอะไรหรือไม่ คำตอบที่ได้รับจากท่านก็คือ “ไม่มี บ้านเมืองก็มีชีวิตของมันเอง คนที่อยู่ในบ้านเมืองนั่นแหละที่จะทำให้บ้านเมืองให้เป็นไป ชีวิตใครก็ชีวิตมัน” พอผู้เขียนคิดจะถามถึงเรื่องพรรคกิจสังคม เพราะมีคนฝากให้มาถามท่านว่าจะทำอย่างไรกับพรรคนี้ต่อไปดี ผู้เขียนก็ล้มเลิกความคิดที่จะถามขึ้นมาทันที เพราะได้คำตอบจากประโยคที่ถามถึงเรื่องของบ้านเมืองนั้นแล้ว
คือ “พรรคกิจสังคมจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ในพรรคนั่นแหละ” ตามด้วยคำตอบที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเองว่า “ตอนนี้ก็ไม่มีพรรคกิจสังคมแล้ว แต่บางคนก็ไปอยู่ในพรรคอื่น ก็ให้แล้วแต่กรรมและเวรของแต่ละคนนั้น” แล้วทำให้คิดถึงคำกรวดน้ำเพื่อให้เกิดความรู้สึกปล่อยวาง
“จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย”