นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ระบบ isee 2.0 : Edtech เพื่อพัฒนานโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ตอนหนึ่งระบุว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับครอบครัวของเด็กและเยาวชนที่ยากจนด้อยโอกาสกว่า 1,800,000 คน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. รายงานว่าในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 ถึง 300,000 คน เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างมาก ทำให้เด็กๆ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ที่ระบุว่า หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการป้องกันเชื้อโควิดโดยการปิดเมือง ปิดประเทศ เว้นระยะทางสังคม จึงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปด้วย กลุ่มคนที่อยู่ ในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) จ้างงานแบบชั่วคราว และไม่มีระบบประกันทางสังคม จึงได้รับผลกระทบอย่างสูง ส่งผลต่อเนื่องต่อลูกๆ ที่ยังเป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาก โดยคาดการณ์ว่าจะมีเด็กทั่วโลกประมาณ 42-66 ล้านคนต้องตกลงไปในชั้นความยากจนสุดขั้ว (extreme poverty) อันเป็นผลจากวิกฤติในปีนี้ จากเดิมที่มีเด็กยากจนในชั้นความยากจนสุดขั้วอยู่แล้ว 386 ล้านคนในปี 2019 ผลกระทบของมาตรการหยุดการแพร่เชื้อที่ทำให้ทั่วโลกมีมาตรการการปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนรวม 188 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเด็ก 1,500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้และสะสมทุนมนุษย์ของเด็กในรุ่นนี้ได้รับผลกระทบ โดยหลายประเทศได้มีการให้มีการ เล่าเรียนชดเชยผ่านระบบดิจิทัลออนไลน์ แต่ก็ทำให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของเด็กทั่วโลกต้องตกหล่นจากการศึกษาออกไป ไม่สามารถเรียนรู้ออนไลน์นี้ได้เพราะครอบครัวมีฐานะที่ขาดความพร้อม ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องการเรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์ ขาดการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่มีราคาค่าใช้จ่ายสูงกว่าฐานะของครอบครัวจะจ่ายได้ และผู้ปกครองก็ขาดความรู้ขาดทักษะที่จำเป็นทำให้ไม่สามารถช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ สอนการบ้าน หรือการสร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่ดีพอจากที่บ้านได้ ข้อมูลของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ยังระบุด้วยว่า การหยุดการเรียนการสอนไปจากการปิดโรงเรียน ก็ส่งผลให้เด็กประมาณ 368.5 ล้านคนทั่วโลกที่พึ่งพา อาหารกลางวันจากโรงเรียน ขาดการเข้าถึง อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพัฒนาการของเด็กต่อไปในอนาคต จะเห็นได้ว่า คุณภาพชีวิตของเด็กไทยและทั่วโลก อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อนโยบายภาครัฐของแต่ละประเทศ ในการที่จะเข้าไปฟื้นฟูและเยียวยา การตรวจสอบค้นหาในเชิงรุก ทุ่มเทงบประมาณลงไปเพื่อโอบอุ้มยกระดับให้เด็กเหล่านั้น มีคุณภาพชีวิต สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะพวกเขาเหล่านั้น คืออนาคตของชาติ