การเมืองไทยเดือนกันยายนอุณหภูมิร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ ด้วยปฏิทินการเมือง กำหนดนัดชุมนุมใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายน โดยก่อนหน้านี้ม็อบปลดแอกขีดเส้นให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อในปลายเดือนกันยายนนี้ ประกอบด้วย
1) หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย
2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง
3) ยุบสภาเพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง
ฝ่ายความมั่นคงจับตาสถานการณ์การชุมนุม 19 กันยายน ว่าจะมีประเด็นใด มาเติมฟืนใส่ไฟเรียกแขกให้การชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากการพิจารณางบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำแล้ว ก็มีประเด็นใหม่เข้ามาแทรก
หลังจากที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งงบประมาณ 111 ล้านบาทไว้ในงบประมาณปี 2564 เพื่อไว้สู้คดีกรณีใช้อำนาจตามมาตรา44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา โดยเป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี ตั้งงบตั้งแต่ปี 2562-2564 รวม 389 ล้านบาท
กลายเป็นประเด็นที่มีการรุกไล่ทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ไม่ขาดคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี นำมาย้อนศรในกรณีดังกล่าว เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบกรณีนี้ด้วยตัวเอง
กระทั่งที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็สั่งการให้กองทัพเรือพิจารณาชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ออกไปก่อน และนำงบประมาณ 3,375 ล้านบาท ไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น
โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเข้าใจของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นถึงความห่วงใยของประชาชน สังคม และ กมธ.งบประมาณฯ ที่จะต้องนำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลปากท้องประชาชนและเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าเหมาะสม ทั้งนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของกองทัพที่ต้องการดูแลประชาชน และทรัพยากรของประเทศไทยให้ดีที่สุด และรัฐบาลจะพยายามดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อให้ทั้งหมดมีความสอดคล้อง ประชาชนมีความสบายใจเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม
“อยากให้เข้าใจตรงกันว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ถูกต้องทั้งหมด โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่การจัดซื้อของลำที่ 1 แล้ว ในส่วนของลำที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องที่จะมีการส่งมอบต่อเนื่องเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่างบประมาณทั้งหมดที่ตั้งไว้ เป็นการจัดตั้งไว้สำหรับซื้อเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของลำที่ 2 และ 3 อยู่ที่ 22,500 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 63 เดิมมีงบประมาณที่จะเตรียมจัดสรร 3,375 ล้านบาท แต่ว่าเลื่อนมาเป็นงบประมาณปี 64 ดังนั้น ปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่จะต้องเลื่อนไปเป็นครั้งที่ 2”
เราเห็นว่ารัฐบาลยอมถอยหนึ่งก้าว สั่งชะลอเรื่องดำน้ำออกไป เพื่อลดแรงเสียดทาน แรงต้านต่อรัฐบาล แม้จะไม่ใช่การถอยสุดซอย แต่ก็เป็นการปลดชนวนระเบิดทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องนี้กระทบกระเทือนความรู้สึกขอประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐบาลไม่อยากเปิดแนวรบมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม