นอกจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำ 2 เพราะภูมิต้านทานจากการป่วยรอบแรกอยู่ไม่นานแล้ว เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทัศนคติและความเชื่อของผู้คน ต่อเชื้อไวรัสวายร้ายว่า ไม่ได้รุนแรงจริงอย่างที่รัฐพยายามสื่อสาร หากแต่เป็นเรื่องเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหลอกบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาเท่านั้น เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในเยอรมนี มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมในกรุงเบอร์ลินหลายหมื่นคน ที่มองว่ามาตรการควบคุมโรคโควิด-19 นั้นเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ละเมิดรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทันที ซึ่งการชุมนุมในลักษณะเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ ของทวีปยุโรป ไม่วาจะเป็นฝรั่งเศส และอังกฤษ จะเห็นได้ว่า ปัจจัยทางการเมืองกำลังเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรณีที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลไทยเองก็เผชิญกับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองให้ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือควบคุมทางการเมืองมากกว่า ตัวช่วยในการควบคุมโรค แม้เหตุผลในการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย จะแตกต่างจากฝั่งยุโรป ด้วยเป็นเรื่องของการเมืองภายในที่ต้องการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และยังคงดำเนินมาตรการในการป้องกันโรคควบคู่ไปกับการชุมนุม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนในประเทศ ที่สำคัญคือประชาชน ที่ร่วมมือร่วมใจกันป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์สามารถควบคุมได้ดี มีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ติดต่อกัน หากไม่มีอะไรผิดพลาดคือตัวเลขเป็นศูนย์ครบ 100 วันไปแล้วเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา กระนั้น ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนชิดติดกับประเทศไทยเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีเนื้อหาที่น่าสนใจระบุว่า “การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่าในช่วง 10 วันที่ผ่านมามีการระบาดอย่างมาก เริ่มจากเมืองที่ติดต่อกับบังกลาเทศ เมืองสิตตะเวในรัฐยะไข่ มีแนวโน้มที่จะกระจายไปยังเมืองอื่นโดยเฉพาะเมืองตามชายทะเล ในเวลา 1 สัปดาห์ ยอดผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว สิ่งที่สำคัญคือพรมแดนธรรมชาติที่ติดต่ออันยาวไกล มีการเคลื่อนย้ายของประชากรอาจจะเหนือความควบคุม ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดในประเทศไทยได้ ประกอบกับฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่มีโรคทางเดินหายใจชุกชุม ความสามารถในการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อยับยั้งการระบาดเป็นเรื่องสำคัญมาก มีค่าใช้จ่ายสูง การตรวจที่ดีที่สุดคือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสจะมีความไวสูงสุด สำหรับประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มอัตราการตรวจ โดยเฉพาะในแรงงานต่างด้าว บุคคลที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การนำไปไว้รวมกันก็สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดเป็นอย่างยิ่งเพราะสภาพแวดล้อม จะเอื้ออำนวยให้เกิดการระบาด สิ่งที่ถูกต้องจะต้องทำแบบ State quarantine สำหรับผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก่อนที่จะส่งกลับซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก นับแต่นี้ต่อไป การตรวจวินิจฉัยเชิงรุกในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องทำเพิ่มขึ้น ขีดความสามารถในการตรวจของประเทศไทยมีสูงมาก เพราะขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ตรวจพันธุกรรมของไวรัสได้ประมาณ 250 แห่ง ปัญหาจึงอยู่ว่าใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศ การนำเข้าแรงงาน ถ้ามีการ Quarantine ก็จะมีค่าใช้จ่าย จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ให้แรงงานต่างๆลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การระบาดในสิงคโปร์และมาเลเซียที่ผ่านมา ก็เกิดจากแรงงานต่างประเทศ เรามีบทเรียนจากสิงคโปร์และมาเลเซีย น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเกินการควบคุมของประเทศไทย” ดังนั้น นี่จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องลุกขึ้นมาตื่นตัวในการป้องกันอีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้การระบาดระลอกสองกลับมาหลอกหลอนเศรษฐกิจประเทศไทย