เสรี พงศ์พิศ www.phongphit “รัฐรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ เกิดความรุนแรง เป็นรัฐล้มเหลว” อนาคตของประเทศไทยอยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ใช่ที่กรุงเทพฯ หรือศูนย์กลางอย่างทุกวันนี้ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะเกิดเร็วถ้าโชคดีรัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์ชัดเจนและมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก แต่ถึง “โชคร้าย” รัฐบาลไม่ยอม อย่างไรก็ต้องเปลี่ยน เพราะโลกยุคใหม่จะ “พาไป” ถึงจุดนั้น ด้วยเทคโนโยลีและวิถีการผลิต ถ้ามองเห็น “ภาพนิมิต” (vision วิสัยทัศน์) สังคมไทยเช่นนี้ คงไม่ต้องรอปีหน้าปีไหน สังคมไทยต้องเดินไปสู่จุดหมายนั้นตั้งแต่วันนี้ โดยการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับโดยเร็ว และให้แต่ละท้องถิ่นมีแผนพัฒนาตนเองว่า “จะพึ่งตนเองและมีความสุข” ได้อย่างไร ยิ่งโควิดยังไม่หมด ยิ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะลงมือทำ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน (พึ่งตนเองและมีความสุข) คงเป็นไปได้ยากที่จะให้รัฐบาลยกเลิก “ส่วนภูมิภาค” เลิกผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะต้องการยึดอำนาจไว้ที่ส่วนกลางและมี “แขนขา-กลไก” ในท้องถิ่นเป็นตัวแทนอำนาจ แต่รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์จะต้องวางแผนยกเลิกในกี่ปีก็ควรประกาศ ไม่ว่าจะถูกต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์ เพราะไม่เลิกวันนี้ วันหน้าก็ต้องเลิก เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้บ้านเมืองอยู่ในสถานะทับซ้อนเช่นปัจจุบันที่มีทั้งนายกอบจ. มีทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ มีนายกเทศมนตรี นายกอบต. แล้วยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีสองคณะปกครองท้องถิ่น ไม่รู้บ้านเมืองไหนที่เขามีสองระบบแบบนี้ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาทั้งหลาย เขาให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง เลือกกันเอง ความไม่พร้อมไม่ใช่ของประชาชน แต่ของรัฐบาลที่หวงอำนาจ ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองว่าจะเห็นประเด็นนี้อย่างไร พร้อมที่จะเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างนี้หรือไม่ หรือยังกลัวว่า จะถูกต่อต้านจนฐานเสียงหายไป แต่ “คนรุ่นใหม่” คงไม่เอาระบบเดิมนี้แล้ว ที่ทำได้ทันที คือ ทำให้อบจ. เทศบาลเข้มแข็ง และ “พึ่งตนเอง” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้สมัครทั้งหลายคงต้องเสนอทั้งวิสัยทัศน์และแผนที่เป็นรูปธรรมว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้จังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นอิสระ ปกครองตนเอง ไม่ใช่อยู่ในอาณัติของรัฐส่วนกลางอย่างทุกวันนี้ ประเด็นที่เป็นห่วงกันมากที่สุด คือ งบประมาณ ที่ยังต้องขึ้นต่อส่วนกลาง เขาบีบก็ตายเขาคลายก็รอด จึงไม่มีอะไรไปต่อรอง คนมีงบประมาณก็มีอำนาจในการตัดสินใจ แล้วทำอย่างไรท้องถิ่นจึงจะมีงบประมาณที่มากกว่าวันนี้ ที่ถูกส่วนกลาง “ยึดไป” หลายจังหวัดเก็บภาษีได้มากมาย ต้องส่ง “ส่วย” ให้ส่วนกลาง ได้กลับคืนมาไม่เท่าไร รัฐบาลก็อ้างว่า จะได้เจือจานแบ่งปันให้จังหวัดที่มีรายได้น้อยและพัฒนาประเทศ มีเหตุผลมากมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ยึดอำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมืองแบบ “ครอบงำ” และรวมศูนย์นี้พร้อมตัวแทน “ส่วนภูมิภาค” ว่าจำเป็นจนขาดเสียมิได้ด้วยเหตุผลร้อยแปด ผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นในการเลือกตั้งต่อไปนี้ถ้ามีความมุ่งมั่นที่จะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจ/คืนอำนาจให้ท้องถิ่น ก็ต้องมียุทธศาสตร์แบบ “ตาดูดาวเท้าติดดิน” มีวิสัยทัศน์ แผนงานบนฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัด/เทศบาลของตน ไม่ใช่มีแต่ข้อมูลปัญหาและความต้องการของประชาชน แต่ข้อมูล “ทุนท้องถิ่น” ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม อันเป็นศักยภาพที่รอการพัฒนา จะพัฒนาอย่างไรให้มี 1 ระบบ 2 เรื่องใหญ่ คือ ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง และเรื่องอาหารกับเรื่องพลังงาน (ซึ่งรวมถึงน้ำและสิ่งแวดล้อม) ทำอย่างไรให้จังหวัด อำเภอ ตำบล มีแผนการผลิต การบริโภค “ภายใน” ขอบเขตของตนเองให้มากที่สุด ทำอย่างไรให้เกิดเครือข่ายในจังหวัด ระหว่างอำเภอ ตำบล หรือแม้แต่ข้ามไปจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้บริหารท้องถิ่นในอาคตต้องมีข้อมูล ตัวเลขการบริโภคของประชากร ที่มาของสินค้าต่างๆ เพื่อจะได้วางแผนว่า อะไรที่ผลิตได้เอง ปลูกเองเลี้ยงเอง ทำเอง เพื่อจะลดการซื้อจากภายนอก การพัฒนา GDP ในระดับจังหวัด ในระดับเทศบาลน่าจะทำได้ในลักษณะย่อส่วนจาก GDP ใหญ่ ประยุกต์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ คือตัวเลขการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ และส่วนต่างจากการส่งออกนำเข้า ผู้บริหารส่วนใหญ่บอกว่าทำไม่ได้ แต่เหตุผลสำคัญกว่านั้น คือ ไม่ได้ทำ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องทำ หรือทำไปก็ไม่ได้งบ ทำแค่โครงการเพื่อไปของบจากส่วนกลางก็พอ ต่ออายุสังคมอุปถัมภ์ไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมามีการทำ “แผนแม่บทชุมชน” ที่แต่เดิมที่มูลนิธิหมู่บ้านได้สังเคราะห์ขึ้นมานั้น เพื่อให้ท้องถิ่น “พึ่งตนเอง” ให้มากที่สุด แต่เมื่อหน่วยงานของรัฐนำไปขยายผลก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือการทำโครงการของบประมาณเหมือนเดิม ถ้าท้องถิ่นไม่มีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่มีแผนชัดเจนในการผลิตอาหารและพลังงาน คงไม่มีวันที่จะ “ปลดแอก” จากอำนาจส่วนกลางได้ คิดถึง “แอก” อันนี้ให้จริงจังถ้าหากต้องการเป็นสังคมประชาธิปไตย คงต้องฟังอมาตยา เซน ที่พูดเรื่องความยากจนในประเทศด้อยพัฒนาว่า ถูกทำให้ฝันมาปีแล้วปีเล่าว่า “พรุ่งนี้รวย” สัญญาจะแก้ปัญหาและพัฒนาอย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เขาบอกว่า “เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มค้นหาความจริงกันใหม่” “เพื่อก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งตนเอง”