สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีไทยทั้งปีนี้จะหดตัวอยู่ที่ -7.5% โดยจะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งการระบาดน่าจะอยู่ในวงจำกัดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และไม่มีการระบาดรุนแรงรอบ 2 เกิดขึ้น ข้อมูลของสภาพัฒน์ ระบุด้วยว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 80.1% ในไตรมาสแรกปีนี้สูงสุดในรอบ 4 ปี โดยมีมูลค่าถึง 13.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% ขณะที่คุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ ไตรมาส 1/2563 แตะ 1.56 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นถึง 23.6% คิดเป็นหนี้เสียต่อหนี้สินรวมทั้งหมด 3.23% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม ธปท. ได้เห็นร่วมกันกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โดยให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้ โดยที่ผู้ให้ บริการทางการเงินต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดโดยไม่จำเป็น และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ประชาชนไม่ได้อยากก่อหนี้เพิ่ม แต่ประชาชนมีความจำเป็นจึงต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น และมาตรการรัฐมีการออกมาตรการให้กู้เพื่อเยียวยาธุรกิจ ส่งผลให้ตัวหนี้เพิ่มอยู่แล้วโดยนโยบาย หากประคองการจ้างงานได้การก่อหนี้จะไม่เพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่อง จีดีพี หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ จีดีพี พลิกฟื้นได้ในปลายปีเราอาจเห็นระดับหนี้ครัวเรือนทะลุ 85% เราเห็นว่า นอกจากมาตรการในการรวมหนี้ การจ้างงาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว การขยายมาตรการจูงใจให้คนไทยได้เก็บออมมากขึ้น ก็จะเป็นหนทางในการช่วยลดหนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน