ทิศทางชีวิตที่นำความผาสุกนั้น ใหญ่กว้างมองเห็นชัดเจน มิได้ซุกซ่อนหลบเร้น จนต้องจ่ายเงินเป็นหมื่น ๆ บาทเพื่อเรียนรู้ หรือเข้าคอร์สอบรมพร้อม ๆ กับบุคคลที่โด่งดังมีชื่อเสียง ทิศทางชีวิตนั้นปฏิบัติง่ายย ๆ คือประพฤติปฏิบัติตัวให้สมกับความเป็นมนุษย์ ผู้มีใจสูงใจงาม นั่นคือปฏิบัติตามศีลธรรมที่ศาสดาศาสนาต่าง ๆ สอนไว้ ธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มามีกระบวนทัศน์เกิดขึ้นมานานแล้ว กระบวนทัศน์ของมนุษย์สามกระบวนทัศน์ใหญ่ ๆ นั้นสรุปได้ว่าคือ ๑.กระบวนทัศน์ที่สร้างโลกทัศน์-ชีวทัศน์ ให้ปัจเจกชนหมกมุ่นอยู่กับประโยชน์ส่วนตน ขาดความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่รับผิดชอบต่อการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ ๒.กระบวนทัศน์ที่สร้างโลกทัศน์-ชีวทัศน์ ให้ปัจเจกชนมีจิตสำนึกต่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน มีจิตสำนึกรับผิดชอบงานทางสังคม (เช่นเศรษฐกิจ , การเมือง ร่วมกัน) มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ รับผิดชอบต่อการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ ๓.กระบวนทัศน์ทางสายกลางที่ไม่อาจต้านทางกระบวนทัศน์แบบที่หนึ่ง แต่ก็มีบทบาทพยายามลดทอนข้อเสียของกระบวนทัศน์ที่หนึ่ง นั่นคือองค์กรทางศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลก ในทางเป็นจริงนั้นทั้งสามกระบวนทัศน์มีความซึมซ่านเข้าผสมกัน มนุษย์แต่ละคนล้วนมีกระบวนทัศน์ทั้งสามอยู่ในจิตใจ (เกิดจากการภาวะแวดล้อมของพวกเขา)ในระดับที่ต่าง ๆ กันไป กระบวนทัศน์ที่ ๒ นั้นดูงดงาม และนักอุดมคติก็พยายามต่อสู้เพื่อขยายแนวคิดนี้โดยมีทฤษฎีชี้นำต่าง ๆ กันไปในหลายร้อยปีนี้ ผู้คนที่มีกระบวนทัศน์แบบที่สามมีจำนวนมากที่สุด เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ก็เป็นภาคส่วนที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ไม่มีอำนาจการเงิน และที่สำคัญคือมักกลายเป็นเหยื่อถูกมายาจากกระบวนทัศน์แบบที่หนึ่งครอบงำ “โดยปกติ คนส่วนใหญ่มีชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่เคยเข้าใจหรือวิพากย์วิจารณ์สภาพของตนเอง เกิดมาก็มีตำแหน่งแหล่งที่ที่แน่นอนแล้ว และก็ยอมรับสภาพที่แต่ละวันยื่นให้ ไม่เคยคิดไปไกลกว่าสิ่งที่ต้องการเฉพาะหน้า พวกเขาแสวงหาความพึงพอใจตามความกระหายอยากเฉพาะหน้าเกือบจะเป็นสัญชาติญาณของสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีการคิดล่วงหน้า โดยไม่คำนึงเลยว่าหากใช้ความพยายามให้เพียงพอแล้วก็อาจจะเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตทั้งหมดไปได้ มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้ความพยายามในการคิดจากความใฝ่ฝันส่วนตัวของตนเอง ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องดันตัวเองเข้าไปร่วมอยู่ในวงสังคมที่มีโชคมากกว่า แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยในกลุ่มนี้เท่านั้น ที่สนใจพิทักษ์ประโยชน์ที่ตนเองได้มาอย่างจริงจัง และก็มีคนน้อยยิ่งไปกว่านี้อีกที่หาได้ยากยิ่ง ที่จะมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์จนทำให้พวกเขาทนต่อความชั่วร้ายและความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ได้” (เบอร์ทรันด์ รัสเซล “เส้นทางสู่เสรีภาพ” สำนวนแปลของ สันติ จำรูญ) ความพยายามที่จะป้องกัน , ปัดเป่าบรรเทา สภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและการทำลายล้างกันเองของมนุษย์นั้นมีมานมนานแล้ว นักอุดมคติพยายามคิดค้นระเบียบสังคมที่กว่าเดิมเรื่อยมา ผู้ที่มองโลกในแง่อุดมคติ ย่อมจะโศกเศร้ากับความชั่วร้ายที่มนุษย์ปล่อยให้เกิดขึ้น แล้วเขาจะปรารถนาที่จะโน้มนำผู้คนทั้งหลายให้เข้าใจถึงสิ่งดีงามที่ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา ความปรารถนานี้คือพลังพื้นฐานของนักอุดมคติ การต่อสู้สร้างสรรค์ผลักดันสังคมให้ดีงามมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องใช้เวลายาวนาน มันไม่อาจสำเร็จได้ในชั่วชีวิตคน ๆ หนึ่ง แต่เป็นกระบวนการที่จะต้องทำสืบเนื่องไปนับร้อยปีนับพันปี ผู้คนที่มีกระบวนทัศน์ที่สาม “ทางสายกลาง” นั้นมีจำนวนสูงสุดอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาต่างคนต่างอยู่ ขาดการรวมพลัง ปล่อยให้ผู้คนที่มีกระบวนทัศน์ที่หนึ่งหรือคนชั่ว ได้อำนาจครอบงำสังคม ทิศทางที่จะทำให้สังคมดีขึ้นคือ สร่งความกระตือรือร้น ความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม รวมพลังต่อต้านอย่าให้คนพวกที่หลงติดกระบวนทัศน์ที่หนึ่งใช้มายาเข้ามากุมอำนาจนำสังคม