สถานการณ์ความแตกแยกร้าวลึกในสังคมไทยขณะนี้กำลังถูกบ่มเพาะจนใกล้สุกงอมเต็มทน ให้บังเอิญหรือจงใจที่ปฏิทินการเมืองไทยเดินทางมาใกล้ห้วงเวลาครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 19 กันยายนพอดี แม้ในวันสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว โฟกัสประเทศไทยจะจับจ้องไปที่การนัดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ กระนั้นยิ่งทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเต็มไปด้วยความหวั่นวิตกว่า จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง นำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด ซึ่งนั่นจะเท่ากับ การล็อกดาวน์ประเทศซ้ำสอง “เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. ผู้นำรัฐประหารกล่าวในตอนหนึ่ง ระหว่างพบปะกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังรัฐประหาร 19 กันยาย 2549 ในกองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.สนธิ ให้เหตุผลในห้วงเวลานั้นว่าตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้คุมกำลังหลักในการปกป้องประเทศซึ่งประกอบด้วย 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ชาติคือประชาชนกำลังถูกแบ่งแยกให้ขัดแย้งสู้รบกัน ศาสนาก็เสื่อมทราม แต่ที่เป็นวิกฤติหนักที่สุดก็คือ พระมหากษัตริย์ที่นักการเมืองบางกลุ่มไม่ได้มีความจงรักภักดี กระนั้น แม้เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ที่ผลักดันให้พล.อ.สนธิตัดสินใจทำรัฐประหาร แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ไม่ได้ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ได้เห็นภาพชัดเจน ในเพจเฟซบุ๊คส่วนตัว อัษฎางค์ ยมนาค ในบทความหัวข้อ “ถ้าในหลวงไม่ได้สั่งให้ปฎิวัติแล้วทำไมในหลวงทรงลงพระนามรับรองคณะปฏิวัติ?” ในตอนหนึ่งระบุว่า “การลงพระนามของในหลวงคือ พิธีการ พิธีการที่ในภาวะปกติ นายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภา มีหนังสือหรือกฎหมายมาถวาย ก็ต้องลงพระนาม หรือในภาวะไม่ปกติ เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร หัวหน้าคณะรัฐประหารก็มาถวายหนังสือมาถวายให้ลงพระนาม ถึงในหลวงไม่ทรงลงพระนาม กฎหมายนั้นก็มีผลบังคับใช้อยู่ดี ในหลวงอยู่เหนือการเมือง แต่ทรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ เพราะฉะนั้นการส่งหนังสือให้ลงพระนามคือการถวายพระเกียรติ และเป็นพิธีการ พระองค์ก็ต้องทำตามพิธีการ ซึ่งเป็นพิธีการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันในระดับสากลว่า ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ๆตัว ถ้าลูกๆ วัยรุ่นเฮี้ยวๆ อยากออกไปเที่ยวกลางคืน แต่พ่อแม่ไม่อยากให้ไป สุดท้ายยังไงมันก็ไม่ฟังหรอก ยังไงมันก็ไปอยู่ดี แต่ก่อนจะไป ต้องบอกกันหน่อยว่าจะไป เป็นพิธี เพื่อให้เกียรติกัน กรณีแบบนี้คล้ายกัน ลงพระนาม เป็นไปตามพิธีการ คนที่เอาไปให้ลงพระนามก็ทำเป็นพิธีการเหมือนกัน เป็นการถวายพระเกียรติ เป็นสิ่งที่เรียกว่า พระราชอำนาจโดยพระบารมี เพราะอะไร เพราะประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนเราจะออกจากบ้าน ต้องไหว้พ่อแม่มั้ย หรือไปบ้านเพื่อนต้องไหว้พ่อแม่เพื่อนมั้ย ความจริงใจไม่ไหว้ ก็ไม่มีใครทำอะไรเราได้ แต่เราก็ไหว้เพื่อแสดงความเคารพ ว่าบ้านมีพ่อแม่เป็นผู้ใหญ่” ดังนั้น อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จงช่วยกันขยายความเข้าใจนี้ อย่าให้อคติมาบดบัง