ทวี สุรฤทธิกุล
กิจสังคมคือแบบอย่างหนึ่งของคำว่า “ท่าดีทีเหลว”
การเมืองเป็นเรื่องของ “อุดมคติ – อุดมการณ์” ซึ่งก็คือการวาดฝัน หวังมาก คิดใหญ่ มองไกล เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น แต่สุดท้ายก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะไปไม่ถึงสิ่งที่มุ่งหวังเหล่านั้น ดังเช่นการก่อเกิดของพรรคกิจสังคม ที่เริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ เติบโตมาอย่างหวือหวา จนสุดท้ายก็จบลงอย่างน่าอนาจใจ
หลังการเลือกตั้งในปี 2526 แม้ว่าพรรคกิจสังคมจะได้ร่วมรัฐบาลโดยการ “งอนง้อ” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มาขอร้องหัวหน้าพรรคกิจสังคมด้วยตนเองถึงบ้านสวนพลู แต่ก็เหมือนว่าพรรคกิจสังคมนั้นต้องอยู่ในภาวะจำยอม ด้วยพลเอกเปรมไม่มีตัวเลือกอื่น ในขณะที่การเมืองยังต้องการเสถียรภาพอย่างยิ่ง ทั้งนี้ในพรรคกิจสังคมก็ยังมีกลุ่มที่ต้องการเข้าร่วมรัฐบาลโดยไม่มีข้อแม้ ดังนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคจึงต้องทำตามแรงบีบที่มีมารอบทิศเหล่านั้น โดยเฉพาะที่ต้อง “กระเตงอุ้ม” พลเอกเปรม จนได้ชื่อจากสื่อมวลชนว่า “โอชิน” ซึ่งเป็นละครชุดในโทรทัศน์ จากชีวิตจริงของสตรีญี่ปุ่นผู้ต่อสู้บากบั่น “แบกคนทั้งครอบครัว” ที่พอดีได้นำมาฉายเป็นละครยอดฮิตอยู่ในช่วงนั้น
ตอนนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปปลูกบ้านหลังเล็กๆ สไตล์ “สวิสชาเล่ต์” ไว้ที่ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่คนทั้งหลายเรียกว่า “บ้านริมปิง” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ขึ้นไปพักอยู่ปีละหลายครั้งๆ ละเป็นเดือนๆ โดยเฉพาะในหน้าหนาวที่ต้องไปลงเมล็ดเพาะกล้าผักและดอกไม้ในเดือนตุลาคม แล้วพอปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคมปีใหม่ก็จะไป “ชื่นชม” ผักและดอกไม้เหล่านั้น จนบางครั้งก็อยู่ที่บ้านริมปิงนี้ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์
ในเดือนพฤศจิกายน 2527 วันหนึ่งซึ่งตรงกับวันลอยกระทง ผู้เขียนที่มีหน้าที่คอยรับส่งแฟกซ์ ซึ่งส่วนใหญ่ไว้ส่งบทความที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนส่งหนังสือพิมพ์สยามรัฐทุกวัน และรับข่าวด่วนต่างๆ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานการเมือง ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องติดต่อกับคนโน้นคนนี้อยู่เป็นประจำ ในบ่ายของวันนั้นก็มีเสียงสัญญาณดังปี๊บๆๆ ที่เครื่องแฟกซ์ นั่นหมายถึงมีผู้ส่งแฟกซ์เข้ามา ผู้เขียนไปรับมาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ โดยได้อ่านก่อนตามปกติ แต่ก็ต้องตกใจเพราะมีข้อความว่า “ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาผมด้วยครับ คุณอาทิตย์(คือพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก)ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท เรื่องท่าจะยุ่งไปใหญ่ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแสดงความคิดเห็นอย่าให้ผู้คนหวาดกลัว ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ” ลงชื่อเป็นลายเซ็นหวัดๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าคือลายเซ็นของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ผู้เขียนต่อโทรศัพท์ไปหาท่านอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการพรรคกิจสังคม ที่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย เพื่อขอทราบข้อมูลรายละเอียด พอถึงเวลาค่ำท่านก็กินเลี้ยงกับลูกศิษย์ลูกหาและญาติมิตรจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งลอยกระทงเสร็จแล้วท่านก็ขึ้นนอนตามปกติ แต่รุ่งเช้าท่านตื่นเช้าเป็นพิเศษ และให้เตรียมอาหารเช้าอย่างเร่งด่วน เมื่อท่านทานอาหารเช้าเสร็จแล้วก็ลงมือเขียนบทความ ยังไม่ถึงแปดโมงเช้าดีท่านก็เขียนเสร็จ แล้วให้ผู้เขียนเอาไปส่งแฟกซ์ พร้อมกับกำชับบรรณาธิการคือคุณสมบัติ ภู่กาญจน์ ให้ตรวจทานให้เรียบร้อย แล้ววันนั้นเหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยตลอดวัน จนในตอนบ่ายก็มีแฟกซ์จากพลเอกเปรมส่งมาอีกหนึ่งฉบับ เขียนว่า “ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ”
ก่อนวันวาเลนไทน์ในปี 2528 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้บอกคนในบ้านว่าให้เตรียมทำสวนและจัดบ้านให้ดูสวยงามเรียบร้อย ท่านบอกว่า “เดี๋ยวป๋าจะมาชมสวน” ซึ่งก็คือการเดินทางมาของพลเอกเปรมเพื่อขอบคุณท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในเรื่องที่ท่านได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ เพราะข้อเขียนของท่านสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่ามาก ที่สำคัญก็คือสามารถสยบการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่จ้องจะ “ล้มป๋า” ได้อย่างชะงัด ในทำนอง “ไก่ก็เห็นตีนงู งูก็เห็นนมไก่” และทำให้กองทัพสงบลงชั่วคราว
ช่วงปลายปี 2528 มีการเลือกตั้งซ่อมที่เขตบางซื่อ พรรคกิจสังคมแพ้การเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ได้ส่งผลต่อฐานะของพรรคกิจสังคมแต่อย่างใด แต่ก็ได้เกิด “เรื่องใหญ่” ขึ้นในพรรคกิจสังคม คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค สาเหตุก็คือการแบ่งเป็น “มุ้ง” ต่างๆ ในพรรคกิจสังคม เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทั้งในและนอกพรรค ในพรรคนั้นก็มีการบีบหัวหน้าพรรคเพื่อที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบริหารของพรรคบางตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรค ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ต้องยอมตามกลุ่มที่มาบี แต่แล้วในวันที่ 28 ธันวาคม 2528 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ให้ผู้เขียนที่เป็นเลขานุการพิมพ์จดหมายฉบับหนึ่ง ขึ้นเรื่องว่า “ขอลาออกจากหัวหน้าพรรค” เรียน เลขาธิการพรรคกิจสังคม แล้วให้เหตุผลในการลาออกนั้นว่า “ขอรับผิดชอบต่อการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมที่เขตบางซื่อ”
คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าสาเหตุที่ท่านลาออกที่แท้จริงนั้น “คืออะไร” แต่ผู้เขียนพอจะคาดเดาได้บางอย่างมานานแล้ว เพราะในช่วงก่อนหน้านั้นผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารของพรรคกิจสังคมหลายคน เพื่อทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม” ก็พอจะมองเห็นเลาๆ ถึง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ “หมดความอดทน” โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ท่านแย้มเป็นนัยๆ ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ (ซึ่งผมไม่ได้นำไปลงไว้ในภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ตามมารยาทของผู้ทำวิจัย) ที่ท่านบอกว่า
“ผมผิดหวังในพรรคกิจสังคมมาก ผมตั้งมากับมือ แต่ก็มีอีกหลายมือมาบีบให้มันตาย”