นับถอยหลังเข้าสู่เดือนกันยายน ที่จะกลายเป็นอีกเดือนที่สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เมื่อดีเดย์นัดชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดรวมพลใหญ่ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช. นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน การชุมนุมเป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากจัดโดยกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เคยจัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดประเด็นร้อนทางการเมืองมาแล้ว และถือเป็นการวอร์มอัพก่อนจะมีการชุมนุมใหญ่ที่คลาคล่ำแน่นขนัดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงทำให้การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนเป็นที่จับตามากยิ่งขึ้น โดยมีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงติดตามการชุมนุมแต่จะไม่มีการห้ามหรือขัดขวางการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น “น้ำกำลังเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง” แค่เฝ้าระวังอย่าให้มีการทำผิดกฎหมายจากการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง ทำลายหรือเผาสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ไปสู่ฮ่องกงโมเดลโดยกำชับให้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใช้ความอดทน หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครปฏิเสธว่า การชุมนุมทางการเมืองแทบทุกครั้ง อาจเสี่ยงต่อความไม่สงบหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของประชาชนในทุกระดับ ในการจับจ่ายใช้สอย ไม่แต่เฉพาะนักลงทุนเท่านั้น ผลลัพธ์ของการชุมนุมประท้วงในประเทศฮ่องกง หรือที่เรียกว่า ฮ่องกงโมเดล ทำลายเศรษฐกิจของฮ่องกงจนย่อยยับ เมื่อหันมาดูข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/63 หดตัว 12.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวรอยละ 2.0 (%YoY) ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงรอยละ 6.9 โดยสภาพัฒน์ฯ คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในชวงที่เหลือของปีนี้ จะเริ่มฟื้นกลับมาดีขึ้นเมื่อเทียบรายไตรมาส แต่ยังมีโอกาสติดลบอยู่ ส่งผลให้สภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการ GDP ทั้งปี 63 ลง โดยคาดวาจะหดตัว 7.5% (กรอบ -7.8 ถึง -7.3%) จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไวในเดือน พฤษภาคม ว่าจะหดตัวในกรอบ -6 ถึง -5% ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแหงประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน กรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 82.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 80.0 ในเดือน มิ.ย. โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 และยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่องและการเขาถึงสินเชื่อ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยูที่ระดับ 93.0 เพิ่มขึ้นจาก 90.1 ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ดัชนีฯ ที่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตยังต่ำกว่าปกติ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้การชุมนุม เกิดความรุนแรงและเสึ่ยงต่อความไม่สงบขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อรักษาลมหายใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ให้เดินควบคู่ไปกับเสรีภาพ และอุดมการณ์ทางการเมือง