การเคลื่อนไหวของ นักเรียน นักศึกษาที่พากันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่กำลังเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีสัญญาณไฟเขียวจาก "รัฐบาล" ให้สามารถแสดงความเห็นในพื้นที่สถานศึกษาได้ ตามสิทธิ เสรีภาพ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความคึกคักของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันปัญหาเฉพาะหน้าที่ รัฐบาลของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังต้องเร่งขับเคลื่อนทุกองคาพยพเพื่อเร่งฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจ โดยเมื่อเวลานี้ได้ "ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่" ที่คัดมาเองกับมือ ทั้ง "ขุนคลัง" และ "รมว.พลังงาน"
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานในการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. นัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ร่วมกับ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน
ก่อนที่จะมีข้อสรุปจากการประชุมออกมาว่า เห็นชอบ 4 มาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ทั้งมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน มีเป้าหมายจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ
เวลานี้ ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล กำลังแบกรับและเผชิญหน้าคือการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก "พิษโควิด" ผสมปนเปไปกับ สถานการณ์ทางการเมืองที่ รัฐบาล ต้องเจอกับ การต่อต้านของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่พร้อมใจกันเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลทั้งในกทม.และต่างจังหวัด กลายเป็น "คลื่นลม" ที่ "ผู้ใหญ่" ในรัฐบาลเอง ไม่สามารถ ใช้ความแข็งกร้าวเข้าจัดการได้ เหมือนกับการชุมนุมเสื้อสี ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเอง โดย "พรรคร่วมรัฐบาล" พยายาม "ดึงเกมเข้าสภาฯ" การหาทางตัดไฟการเมือง ไม่ให้ลุกลามอยู่ข้างนอก อยู่นั้น พรรคฝ่ายค้านทั้ง พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ได้ขยับเกมแก้รัฐธรรมนูญ เร่งรัดให้รวดเร็ว เพื่อให้เป็นการ "รับลูก" จากการเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชน นอกสภาฯ แต่ก็ยังกลายเป็นว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ยังร้องเพลงกันคนละคีย์
เพราะเป้าหมายในการแก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคก้าวไกล คือการ "ร่างใหม่" รวมทั้งต้องเข้าไปแก้ไข "มาตรา 1-2" ที่เกี่ยวข้องกับหมวดสถาบัน ให้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็น "โจทย์ยาก" ที่จะดึงให้พรรคเพื่อไทย โดดเข้าร่วมขบวน เพราะสุ่มเสี่ยงมากเกินไป
ท่าทีและการรุกไล่ จากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่พุ่งเข้าใส่ รัฐบาลครั้งนี้ น่าสนใจว่า เป็นประเด็นที่ล้อไปกับสัญญาณที่พรรคการเมือง ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล พยายามชูมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ เพราะแม้จะมีแกนนำจากพรรคการเมือง หรือแกนนำม็อบเยาวชน ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีความแนวคิด "ล้มล้างสถาบัน" หรือเป็น "พวกชังชาติ" ก็ตาม
ทว่ายิ่งนานวัน "เป้าหมาย" ในการเคลื่อนไหวก็ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้น และยิ่งในห้วงเวลานี้ การผลักให้ "เยาวชน"ออกมาประจันหน้ากับรัฐบาล และกองทัพ สอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้กลายเป็นเรื่องยาก และละเอียดอ่อน หากรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ เพียงนิดเดียว โอกาสที่จะพังทั้งกระดาน ยิ่งมีสูง !