ทีมข่าวคิดลึก
ข้อถกเถียงที่ว่า ที่สุดแล้ว ส.ว.จะมีสิทธิ เสนอชื่อ "นายกรัฐมนตรี" หรือไม่นั้น หลังจากที่ได้กลายเป็นประเด็นที่เหมือนชนวนปลุกความขัดแย้งรอบใหม่ ระหว่าง "แม่น้ำ" ทุกสายที่เกี่ยวข้องทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับ "ฝ่ายการเมือง" ชัดเจนและขยายวงกว้างมากขึ้น
ล่าสุด "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า ประเด็นที่ได้กำลังเป็นข้อถกเถียงเวลานี้ ต้องรอคำตัดสินจาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นหลัก"ประเด็นดังกล่าวถ้ามองเป็นความขัดแย้งอะไรก็ขัดแย้งไปหมดเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้มองเป็นการเสนอ ใครก็เสนอกันได้เหมือนที่บอกว่า ย้อนไปในอดีตมันมีกับดักตั้งมากมาย ตั้งแต่กังวลเรื่องมาตรา 61 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ เรื่อยมาถึงจะมีการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่
สุดท้ายบ้านเมืองยังผ่านไปได้บ้านเมืองไม่ได้วอดวาย นกยังบินพระอาทิตย์ยังขึ้น ลมยังพัด ใบไม้ยังไหว ทั้งที่ตอนนั้นเหมือนบ้านเมืองจะถล่มทลายกันแล้ว มันมีเรื่องลุ้นกันได้เรื่อยๆ ตามประสาคนหาข่าวและคนอ่านข่าว ทุกคนอยากลุ้นอย่างนี้ ถือว่าเป็นเกมที่ธรรมดาหรือทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า ตถตา แปลว่า เป็นอย่างนั้นเอง คิดได้อย่างนี้ไม่เดือดร้อนอะไร" วิษณุ ได้บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อถูกซักถามกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
ในความหมายของวิษณุ นั้นแจ่มชัดว่า ไม่มีทางที่จะเกิด "ทางตัน" ขึ้นแน่นอน ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปต่อ ตามโรดแมป แม้ในยามนี้จะเกิดแรงเสียดทานขึ้นรอบด้านอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประเด็นที่ว่าด้วย "นายกฯ คนนอก"จากนี้เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน กรธ.จะต้องเร่งดำเนินการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา กรณีที่ให้รัฐสภาร่วมเห็นชอบนายกรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ก.ย.จากนั้นต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาตามกรอบระยะเวลากำหนดไว้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อน ตลอดหลายวันที่ผ่านมา คือท่าทีของทั้ง สนช.และ กรธ.ตลอดจนแม่น้ำสายอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับคสช. หรือแม้แต่กระทั่งบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจอย่างคสช.ว่าจะคิดเห็นเช่นใด จะสามารถถือเป็น "สัญญาณ" จาก คสช.ได้หรือไม่ว่าที่สุดแล้วความต้องการของคสช.จะให้ออกมาในทิศทางไหน ?
ขณะเดียวกันท่าทีของสองพรรคการเมืองใหญ่ อย่าง "ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย" เองต่างจำเป็นต้องแสดงจุดยืนและ "ตั้งการ์ด" เพื่อสกัดการถูกกินรวบ จาก คสช. ผ่านการส่ง"คนนอก" เข้ามานั่ง "นายกฯ คนที่ 30" อย่างเต็มกำลังเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว ความพ่ายแพ้ของฝ่ายการเมืองจะปรากฏเป็น "ซ้ำสอง" ซ้ำรอยกับเมื่อครั้งที่ประชามติ ผ่านอย่างฉลุยเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
การปะทะกันระหว่างแม่น้ำสองสายของ คสช. กับฝ่ายนักการเมือง ตลอดหลายวันที่ผ่านมานั้นด้านหนึ่งเป็นเหมือน "สงครามตัวแทน" เพราะ คสช.ย่อมไม่ลงมาชนกับนักการเมืองเองให้กระทบกับคะแนนนิยม ที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กำลังดีวันดีคืน และในขณะเดียวกันยังว่ากันว่านี่ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับสมาชิกในแม่น้ำสายใดก็ตามที่ต้องการได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปนั่งใน 250 ส.ว. ที่จะเลือกโดย คสช. แม้จะต้องเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็นับว่าคุ้มค่าไม่น้อยทีเดียว !