การเผชิญหน้า ชนิดที่เรียกว่า "ม็อบชนม็อบ"ไม่เกิดขึ้นจริง แม้จะมีบางคน บางฝ่าย เฝ้ามองด้วยความหวาดวิตกกันมาโดยตลอดก่อนถึงวัน นัดหมาย 16 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ทั้งการเคลื่อนไหวชุมนุมของ "กลุ่มเยาวชนปลดแอก" ประกาศขอยืนต่อต้าน "รัฐบาล" กับ "กลุ่มปกป้องสถาบัน" ในนามกลุ่มศูนย์กลางประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบัน (ศอปส.) และเครือข่าย
โดยทั้งสองกลุ่มต่างยึดเอา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ถนนราชดำเนิน เพื่อปักหมุดปักหลัก ชุมนุมแสดงพลัง ประกาศ "จุดยืน" ของฝ่ายตนเอง
การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่มีขึ้นครั้งนี้ 16 ส.ค. ดูจะได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นการชุมนุมในลักษณะ "ภาคต่อ" จากวันจัดกิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยเฉพาะการเปิด "10 ข้อเสนอ" จากแกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัย ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่และกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่รักสถาบัน
ต่อมา ยังเกิดเหตุการณ์ จับกุมแกนนำนักศึกษา อย่าง "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำนักเคลื่อนไหว ได้ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และอีกหลายข้อหา ก่อนได้รับการประกันตัวออกไป
ทั้งการยื่น 10 ข้อเรียกร้องที่จงใจพาดพิงสถาบัน รวมทั้งปฏิบัติการจับกุม แกนนำนักเคลื่อนไหวด้วยทั้งพริษฐ์ และอีกสิบกว่ารายนั้น ดูจะไม่ต่างไปจากการเป็น "หัวเชื้อ" ที่ทำให้หลายฝ่ายอดวิตกกังวลไม่ได้ว่า หากการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ยังมีเนื้อหาในลักษณะ พาดพิง จาบจ้วงสถาบันเหมือนหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา จะทำให้คนไทยอีกหลายกลุ่ม อาจจะไม่อดทนอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี มีสัญญาณจาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ออกมาในช่วงวันหยุด ในลักษณะประนีประนอม ลดอุณหภูมิความแรงลงได้ อย่างชัดเจน
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดผยว่า
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูความสงบเรียบร้อยร้อยในการจัดการชุมนุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยให้กำลังใจ และขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ ห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเด็ดขาด
โดยให้เข้าใจว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของการเมือง จึงต้องเปิดโอกาสให้เยาวชน คนหนุ่มสาวได้แสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินเลยกรอบของกฎหมาย และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น" (16ส.ค.63)
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพยายามที่จะดึงความขัดแย้ง บนท้องถนน โดยเฉพาะจาก "กลุ่มคนรุ่นใหม่"ให้เข้าสู่กระบวนการ ผ่านการใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงการเปิดรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ด้วยรูปแบบต่างๆ
แน่นอนว่า เมื่อฝ่ายรัฐ ไม่ยอมรับลูก จาก "ฝ่ายต่อต้าน" ด้วยการใช้ "ยาแรง" จนทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นมาจริง ที่สุดแล้ว จะกลายเป็นการ "เข้าทาง" ดึงทั้งสื่อต่างชาติ ไปจนถึงองค์การด้านสิทธิมนุษยชนต่างชาติ เข้ามากดดันรัฐบาล ตามสเต็ป การเปิดทางปล่อยให้ม็อบเยาวชนปลดแอก ได้ชุมนุมไปตามธรรมชาติของการแสดงความเห็น ครั้งนี้ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่การ "ปล่อย" เสียทีเดียว แต่อาจเป็นการ "ปล่อย"เพื่อ "ดักทาง" ขบวนการล้มสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ ไปในคราวเดียวกัน !