ทวี สุรฤทธิกุล
ในยุคที่เศรษฐกิจ “โชติช่วงชัชวาล” แต่การเมืองไทยกลับ “มืดมิดริบหรี่”
การบริหารราชการในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นไปในแบบ “เอาข้าราชการ(และทหาร)เข้ามาอยู่ข้างใน นักการเมืองออกไปอยู่ข้างนอก” เพราะในทำเนียบรัฐบาลเต็มไปด้วย “คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ” ซึ่งก็ได้แก่กลุ่มนายทหารที่เคยทำงานร่วมกันมา รวมถึงข้าราชการที่คุ้นเคย และเมื่อมองไปยังรัฐมนตรีบางคน ก็เป็น “เพื่อน” ที่เคยร่วมงานกับพลเอกเปรม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หลายคนเป็น “เทคโนแครต” หรือข้าราชการและนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ เข้ามาร่วมทีมบริหารอีกด้วย สถานภาพของพลเอกเปรมจึงแข็งแรงยิ่งกว่า “ไข่ในหิน” เพราะมีการปกป้องทั้งจากกองทัพ ระบบราชการ และระบบสังคมรอบข้าง
สำหรับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาร่วมรัฐบาล ก็ให้ทำงานแบบ “ร่วมกระทรวง” คือไม่ให้มีการแบ่งกระทรวงกันไปบริหารในแต่ละพรรคเช่นในบางยุค ซึ่งทำให้ขาดการถ่วงดุล แต่ละกระทรวงจึงประกอบด้วยรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 พรรค หรือถ้าเป็นกระทรวงใหญ่ก็อาจจะมีรัฐมนตรีที่มีจากต่างพรรค 3-4 พรรค เป็นต้น ทั้งนี้ก็ส่งผลดีต่อรัฐบาลในระยะแรก เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนก็จะทำงานอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการจ้องกอบโกยเอาผลประโยชน์ของรัฐมนตรีคนหนึ่ง ก็จะมีรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งคอยจับตาดูอยู่ด้วย แต่ในระยะยาวกลับทำให้รัฐบาลอยู่ในฐานะง่อนแง่น เพราะที่สุดแล้วผลประโยชน์นั้นก็ไม่เข้าใครออกใคร รัฐมนตรีในบางกระทรวงก็ไม่ได้เกรงใจหรือเคารพกันและกันอย่างจริงใจ ทำให้มีการ “เหยียบตาปลา” หรือเข้าไปขัดผลประโยชน์ของรัฐมนตรีร่วมกระทรวงนั้นได้ อย่างกรณีของพรรคกิจสังคมกับพรรคชาติไทยในกรณี “เทเลกซ์อัปยศ”
เรื่องย่อๆ ก็คือ ในช่วงนั้นประเทศไทยน้ำมันขาดแคลนและมีราคาแพง อยู่มาวันหนึ่งก็มีข่าวออกมาว่ารัฐมนตรีของพรรคกิจสังคมได้ส่งเทเลกซ์จากต่างประเทศห้ามไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของพรรคชาติไทยไปซื้อน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย ในทำนองว่ากระทรวงอุตสาหกรรมน่าจะมีปัญหาเรื่องการได้ค่าคอมมิชชั่น ที่ในวงการน้ำมันเรียกว่า “ค่ารอแยลตี้” ทำให้พรรคชาติไทยโกรธมาก นำเรื่องไปฟ้องให้นายกรัฐมนตรีจัดการ ในที่สุดพลเอกเปรมก็ตัดสินว่าพรรคกิจสังคมผิด และให้พรรคกิจสังคมไปพิจารณาปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับนายบุญชู โรจนเสถียร ผู้ดูแลรัฐมนตรีในกลุ่มนี้ เสนอให้พรรคกิจสังคมถอนตัว แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอม เรื่องนี้ทำให้พรรคกิจสังคมแตกออกเป็น 2 เสี่ยง จากนั้นก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีรัฐมนตรีในกลุ่มของนายบุญชูเข้าร่วม รวมถึงตัวนายบุญชูที่ไม่ขอร่วมกับรัฐบาลนั้นอีกต่อไป (และต่อมาในการเลือกตั้งปี 2526 นายบุญชูก็แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่) กระนั้นปัญหาภายในรัฐบาลก็ไม่ยอมจบสิ้น เพราะมีการยื่นญัตติของฝ่ายค้านเรื่องการนำเข้าไม้จากประเทศพม่าของกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลโดยพรรคกิจสังคม ซึ่งเบื้องหลังก็คือมีกระบวนการ “แทงข้างหลัง” จากพรรคร่วมรัฐบาลนั้น โดยรัฐมนตรีของพรรคกิจสังคมได้เสียงโหวตไว้วางใจไม่พอ จึงต้องลาออกและปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งโดยไม่มีพรรคกิจสังคม อย่างไรก็ตามรัฐบาลของพลเอกเปรมที่รุงรังด้วยปัญหาของนักการเมืองนี้ก็อยู่ได้ครบวาระ จนกระทั่งได้มีการเลือกตั้งใหม่ใน พ.ศ. ตอนต้นปี 2526
การเลือกตั้งครั้งนี้มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นเรื่องหนึ่งคือ ผลการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าพรรคกิจสังคมได้เสียงข้างมาก คือมีจำนวน ส.ส. 99 คน จึงน่าจะได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคชาติไทยที่มาเป็นอันดับสองคือ 98 คน ได้ดำเนินการรวบรวม ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งหลังจากที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว (ตอนนั้นมีการเสนอภาพข่าว “เช็คเงินสด” จำนวน 8 หลัก ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการกวาดต้อน ส.ส.ให้เข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคชาติไทยนั้นด้วย) จนได้เสียงเป็นจำนวน 110 เสียง แล้วพรรคชาติไทยก็ได้ฉวยโอกาสฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล โดยในวันที่มีการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคชาติไทยได้เสนอชื่อพลเอกประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่ในช่วงก่อนที่จะเปิดประชุมได้มีการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ในฝ่ายพรรคกิจสังคม ไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชากรไทย (ซึ่งว่ากันว่าการเข้ามารวมกันได้ของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคประชากรไทย ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาก่อน เกิดขึ้นได้เพราะบารมีของพลเอกเปรมโดยแท้ รวมถึงการจับมือกันของพรรคกิจสังคมกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยมีปัญหากันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน ก็เพราะพลเอกเปรมได้ขอร้องให้ช่วยกันทำเพื่อบ้านเมือง) จนสามารถ “หักดิบ” แย่งเสนอชื่อพลเอกเปรมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งก็สามารถ “หักอก” พรรคชาติไทยได้อย่างสะใจ
ในตอนเย็นของวันที่มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ว่าที่นายกรัฐมนตรีคือพลเอกเปรมที่ชนะโหวตในเกม “ชิงรักหักสวาท” มาได้อย่างตื่นเต้น ได้เดินทางมาที่บ้านซอยสวนพลูของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ว่าคนที่มีทิฐิมากๆ อย่างพลเอกเปรม จะยอมที่จะไป “ก้มหัว” ให้ใครได้ง่ายๆ ซึ่งก็ปรากฏว่าพลเอกเปรมได้ไปกล่าวขอบคุณพรรคกิจสังคมที่เป็นแกนนำในการเสนอชื่อของพลเอกเปรมให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมถึง “ส่งเทียบเชิญ” ให้กลับมาร่วมรัฐบาลด้วยกันอีก ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ตอบรับ ทว่าเป็นการตอบรับที่มีปัญหา เพราะโดยใจจริงก็ยังไม่ลืมกับสิ่งที่พลเอกเปรมได้กระทำกับพรรคกิจสังคม แต่เมื่อเป็นเรื่องที่ “ฟ้ากำหนด” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงจำเป็นที่จะต้อง “กระเตงอุ้ม” เอาพลเอกเปรมมาเลี้ยงดูต่อไป
เข้าสู่ฉากของชีวิต “โอชิน” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องรับบทหนักต่อไป