ศึกนอกก็ต้องรับมือ เพราะ "กลุ่มนักศึกษา" ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ขับไล่รัฐบาล นอกจากจะไม่เลิกรากันง่ายๆแล้ว ล่าสุดยังมี "คณะอาจารย์" ออกโรงเปิดหน้าแสดงจุดยืนสนับสนุน "10ข้อเรียกร้อง" ของกลุ่มนักศึกษาที่ยื่นข้อเสนอเมื่อวันจัดกิจกรรมชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10ส.ค. จนกลายเป็นเรื่องที่สร้างแรงสั่นสะเทือน จากวันนั้นจนถึงวันนี้
ล่าสุด "ศึกใน" ที่จะเกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นการปรับคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 2/2" ผ่านพ้นไปแล้ว อาจจะมี "อาฟเตอร์ช็อค" ตามมา ตามที่ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รมว.ยุติธรรม และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ได้เคยขู่เอาไว้จริงหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครการันตีได้
กระนั้น ภารกิจที่สำคัญของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อน จากนี้คือการสร้างผลงานให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะความหวังที่หลายคนกำลังตั้งตารอลุ้นว่า "ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่" ที่ นายกฯเป็นคนเลือกมากับมือรอบนี้ จะสามารถคลี่คลาย วิกฤติเศรษฐกิจที่ไทย โดนกระหน่ำจาก "พิษโควิด-19"จนพากันทรุด ได้มากน้อยแค่ไหน
ทีมเศรษฐกิจ "ประยุทธ์2/2" ที่นายกฯเฟ้นมารอบนี้ ทั้ง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง จะต้องเร่งสร้างผลงานแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด และล่าสุด ที่ประชุมครม.นัดแรก ของครม.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ความเห็นชอบตั้ง "ศบค.เศรษฐกิจ" หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ขึ้นมาเป็นรูปธรรม แล้ว ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ใช้โมเดลของ ศบค. เพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนเป็นผลสำเร็จ ทำให้ประเทศไทย ได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก
สำหรับศบค.เศรษฐกิจ จะแบ่งคณะกรรมการเป็น 2 สองส่วน โดยส่วนแรกเป็นคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนและวางกรอบแนวทางการดำเนินการเศรษฐกิจจากหน่วยงาน กำกับดูแล ควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการประกอบด้วย นายกเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี ที่รับมอบหมายเป็นกรรมการ
โดยมีรัฐมนตรี 11 กระทรวง ประกอบด้วย รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.ท่องเที่ยวฯ รมว.เกษตรฯ รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัล ฯ รมว.พาณิชย์ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.อุตสาหกรรม และรมว.สาธารณสุข
และมีผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท)เป็นกรรมการ และมีตัวแทนจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
ส่วนชุดที่สอง ชุดคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจ มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเร่งรัดการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอนุกรรมการ 3 ชุด คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรมช.คมนาคม เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการบีโอไอ เลขาธิการสศช. โดยมีปลัดกระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าธปท. เป็นกรรมการ
งานใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องทำให้สังคมได้ประจักษ์คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คลี่คลาย ฟื้นประเทศโดยเร็ว ส่วนการรับมือกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ตลอดจน "แนวร่วม" ทั้งนักวิชาการ ไปจนถึง กลุ่มการเมืองภาคประชาชน เชื่อเถอะว่า รัฐบาลยังมี "เครื่องมือ" รับมืออีกหลายส่วน ที่เตรียมทยอยเปิดตัวออกมา !