รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“การเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใด ? … เท่ากับการเลือกอนาคตของผู้เรียน” ยังเป็นคำกล่าวที่นักเรียน/นักศึกษาใช้เป็นเหตุผลในการเลือกเข้าเรียนแต่ละมหาวิทยาลัย
ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ “มีผู้เรียนน้อย...แต่ที่นั่งเยอะ” ทำให้โอกาสในการเลือกมีมากขึ้น กรณีนักเรียนสละสิทธิ์ส่งผลให้แต่ละหลักสูตรมีนักศึกษาน้อย หลักสูตรละ 5- 6 คนก็มี กระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกผู้เข้าเรียนจึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นรายปีหรือคำพูดที่ว่า “เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก”
ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร? ก็ยังคงมีช่องว่าง...แต่ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้วิธีการที่ดีที่สุด
บ่อยครั้งที่เรามักจะแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ !
แต่ถ้าได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ แบบครบวงจร โดยศึกษาต้นตอของความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยว่ามีปัจจัยใดบ้างที่นักศึกษาใช้ตัดสินใจเลือกที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง
ลองมาดูข้อมูลที่ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษาทุกชั้นปีจำนวน 2,379 คน (ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2563) สรุปปัจจัยหลัก ๆ ที่นักศึกษาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ดังนี้
• ปัจจัยหลักที่มีค่าร้อยละสูงถึง 91.58 คือหลักสูตรตรงกับความต้องการของผู้เรียน (ควรจะมีหลักสูตรให้เลือกได้หลากหลาย ทันสมัย ตรงกับความต้องการ)
• ปัจจัยหลักรองลงมาที่มีค่าร้อยละ 85.29 คือเรียนจบแล้วมีงานทำ(ประเด็นนี้การสำรวจตลาดแรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง)
• ปัจจัยรองลงมาที่มีค่าร้อยละเกิน 75 นับตั้งแต่ระบบการเรียนที่ดี 79.57% สังคมการเรียนดี 78.98% สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน 78.48% นักเรียน/นักศึกษาทั่ว ๆ ไป ต่างยอมรับ 76.50% เครื่องมือIT ทันสมัย 76.17% รวมถึงมีการเอาใจใส่ต่อผู้เรียนดี 75.91% (ปัจจัยดังกล่าวมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้)
• ปัจจัยรองลงมาที่มีค่าร้อยละมากกว่า 70 แต่ไม่เกิน 75 ได้แก่ ภูมิทัศน์ที่สวยงาม ร่มรื่น 74.65% ความแข็งแกร่งทางวิชาการ 73.64% การได้รับการยอมรับจากสังคม 72.89% อาคารสถานที่ตั้งดี 71.75% แม้แต่อาหารการกินก็อร่อย 71.58% (คงเป็นปัจจัยที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งคงจะต้องใส่ใจให้มากขึ้น)
• ปัจจัยที่มีค่าร้อยละ น้อยกว่า 70 ลงมา นับว่าเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามแม้จะอยู่ในลำดับท้าย ๆ ที่นักศึกษายังให้ความสำคัญอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นความมีชื่อเสียง 66.79% อาจารย์มีชื่อเสียง/มีคุณภาพ 65.66% มีทุนการศึกษา 64.78 % มีรุ่นพี่ที่ดี 63.98% ค่าใช้จ่ายไม่แพง 62.76 % มีข่าวในสื่อมวลชน 57.08% กิจกรรมนักศึกษาดี 56.83% และการมีประวัติที่เก่าแก่ยาวนาน 55.15% (ปัจจัยรองเหล่านี้ บางสิ่งต้องสะสมนานนับแรมปี แต่ก็คงไม่ยากเกินความสามารถของผู้บริหาร แต่ต้องใส่ใจจริง ๆ จึงจะเกิดสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน)
ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนับว่าเป็น “ประเด็นหลักและประเด็นรอง” ที่ไล่เรียงกันมา ซึ่งเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจของผู้เรียนที่จะเข้าเรียนในแต่ละมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยใดแก้โจทย์นี้ได้ตรงจุดมากที่สุด ! ก็น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ผู้เรียนหมายปองมากที่สุด !
ทั้งนี้ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับ “บุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกคน” ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารอย่างอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดีแค่นั้น คงจะรับมือไม่ไหวนะครับ !
รู้แล้ว ! ก็ต้องช่วยกันทุกคน/ทุกฝ่าย ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน