อาการกราดเกรี้ยว ตั้งแง่ของบรรดา “วุฒิสมาชิก” หลายราย ที่มีต่อประเด็นว่าด้วยการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา น่าจะพอทำให้ “คณะก้าวหน้า” ที่ออกตัวแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้พอมองเห็นและประเมินสถานการณ์ได้ไม่ยากว่า ถ้าคิดจะ “แก้รัฐธรรมนูญ” แล้ว “โละ” วุฒิสภาทิ้ง คงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ราวพลิกฝ่ามือเสียแล้ว !
“ถ้าจะมาแตะเรื่อง ส.ว.ทั้งการรยกเลิก ส.ว. หรือไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกฯ ตามที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ต้องการนั้น ส.ว.คงไม่ยอม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศ เรายึดหลักการ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้ม็อบมากดดัน แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเรื่อง ส.ว. ค่อยมาคุยกัน”
เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ส่งสัญญาณถึง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อย่างดุเดือด
เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ ปิยบุตร ได้ออกมาเคลื่อนไหวตั้งคำถามว่า “มี ส.ว.เอาไว้ทำไม” พร้อมทั้งขยายแนวคิดดังกล่าวผ่านโลกโซเชี่ยล จนกลายเป็นกระแสที่เชื่อมโยงไปยังประเด็นที่ถูก “ม็อบนักศึกษา” นำมาโจมตีในการชุมนุมแฟลชม็อบ ตลอดช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ประเด็นที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกลุ่มนักศึกษาในนาม “เยาวชนปลดแอก”และพันธมิตร ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ต่อรัฐบาล ได้แก่ 1.ยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แน่นอนว่าการชุมนุมในลักษณะแฟลชม็อบของกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาขับไล่รัฐบาล กำลังผุดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองเลือกที่จะ “เปิดช่อง” ให้มีการชุมนุมภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลึกๆแล้วรัฐบาลจะไม่วิตกกังวลว่าโอกาสที่จะบานปลาย จนถึงขั้น “เอาไม่อยู่”
ดังนั้นทางไหนที่จะสามารถ “ผ่อนคลาย” ความตึงเครียดได้ก็ต้องลงมือทำ ! ด้วยเหตุนี้การดึงเกมกลับไปสู่ “สภาฯ” ด้วยการใช้เครื่องมือที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว นั่นคือการคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นประธาน จึงต้อง “ขยับ” จนล่าสุดมีมติจะให้ให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 เพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อเกมแก้รัฐธรรมนูญ โดยใช้กลไกในสภาฯเริ่มเดินเครื่อง นั่นหมายความว่า โอกาสที่ม็อบนักศึกษา รวมถึงปิยบุตรในฐานะแกนนำคณะก้าวหน้า จะกดดันกันที่ “นอกสภาฯ” ย่อมต้องรอเวลา ให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ
แต่วันนี้ เมื่อ ส.ว.ขุมพลังของรัฐบาลที่ “ฝ่ายการเมือง” ขั้วตรงข้ามรัฐบาลต้องการ โละทิ้ง กำลัง “ออกฤทธิ์” ประกาศ “ไม่เอาด้วย” และหากกลุ่ม ส.ว.ในสภาฯ ไปแตะมือกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ทุกอย่างก็จะเข้าสู่โหมด “ติดล็อก” เนื่องจากต้องใช้เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 หรือจำนวน 84 คนให้ความเห็นชอบ
ท่าทีของเสรี สว.ที่มาจาก “กลุ่ม 40สว.” นั้นไม่เคยโดดเดี่ยว หรือส่งสัญญาณโดยไม่มี “กองหนุน” ยิ่งถ้าฝ่ายตรงข้ามตั้งธงที่จะ “ล้มล้างสว.”เพื่อหวังขจัด “ตัวช่วย” คนที่จะมาโหวตเลือก “นายกฯ” ในสภาฯ ด้วยแล้ว เกมคงไม่จบง่ายๆแค่คณะกรรมาธิการฯเปิดทางให้ เริ่มนับหนึ่งเท่านั้น !