ทวี สุรฤทธิกุล
บ้านเมืองสมัย ร.6 มีปัญหามากมาย ทั้งที่เป็นปัญหาส่วนพระองค์กับที่เป็นปัญหาของผู้คนที่แวดล้อม ตั้งแต่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ขุนนาง ลงไปถึงข้าราชการทุกหมู่เหล่า ไม่นับราษฎรคนไทยที่ยังไม่มีปัญหาเหมือนเคย เพราะเรื่องของบ้านเมืองหรือเรื่องการเมืองการปกครองนั้นคนไทยเห็นว่าเป็นเรื่องของเจ้าของนายเท่านั้น
นักวิชาการบางคนกล่าวว่ารัชกาลที่ 6 ทรงมีความขัดแย้งเกี่ยวกับทัศนคติในเรื่อง “การปกครองสมัยใหม่” ที่ยังทรงเห็นว่าจะต้องใช้เวลาในการ “ตระเตรียมผู้คน” ไปอีกสักระยะ ทั้งที่พระองค์ก็ได้รับมอบหมายจากพระราชบิดาให้ดำเนินการเรื่องการปกครองโดยระบอบรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ที่ถูกกำกับควบคุมโดยรัฐธรรมนูญนั้นสืบต่อ แต่พระองค์ก็ดูเหมือนจะทรงลังเลและไม่มั่นพระทัยในการที่ไปสู่การเมืองในระบอบใหม่นั้น
ความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาในประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยมจนจบวิทยาลัยการทหารและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด(ขณะที่ท่านทรงศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายก็ต้องเสด็จกลับมาสนองงานพระราชบิดาเสียก่อน จึงไม่ได้สำเร็จปริญญาในการศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น) รวมเวลากว่า 10 ปี เข้าใจว่าพระองค์ท่านคงจะต้องซึมซับรับเอาเข้ามาซึ่งระบอบการปกครองสมัยใหม่ดังกล่าวอยู่มากพอสมควร โดยเฉพาะระบอบที่พระมหากษัตริย์ต้องทำงานร่วมกับรัฐสภาที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศอังกฤษ คงจะทรงรอบรู้ถึง “จุดอ่อน-จุดแข็ง” ของระบอบดังกล่าวจนเข้าพระทัยเป็นอย่างดี
ดังที่ได้กล่าวมาในตอนที่แล้วถึงเรื่องเมืองดุสิตธานี ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมผู้คนให้คุ้นเคยกับระบอบรัฐสภาที่ทำงานร่วมกันกับพระมหากษัตริย์ โดยเริ่มจากบรรดาชนชั้นสูงที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์รัชกาลที่ 6 นั้นเสียก่อน พร้อมกับวางรากฐานเรื่องการขยายโอกาสการศึกษาขั้นพื้นฐานออกไปทั่วประเทศ อีกทั้งได้สืบสานพระราชปณิธานของพระราชบิดาเรื่องการปกครองท้องถิ่นที่เน้นการทำงานแบบเทศบาลในหลายๆ เมือง แต่ด้วยกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้เวลาพอสมควร จึงยังไม่สำเร็จเพราะรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเสียก่อน แต่ที่เป็นอุปสรรคร้ายแรงก็คือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ดังที่เป็นอยู่ในรัชสมัยของพระราชบิดานั่นเอง ที่ยังมีอยู่จำนวนมากที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดอันทันสมัยนั้น
ถ้าจะอธิบายด้วยลักษณะของสังคมวัฒนธรรมไทยที่มักจะยึดความเป็น “บุคลาธิษฐาน” คือยึดมั่นในบุคคลที่มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่เป็นหลักในการที่จะเคารพเชื่อฟัง ก็อาจจะกล่าวได้ว่ารัชกาลที่ 6 มีพระบารมีน้อยกว่าพระราชบิดา ดังนั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 สังคมของชนชั้นสูงเหล่านี้จึงมีสภาพ “แพแตก” คือแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มหรือหาผู้นำคนใหม่ โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการหัวสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศด้วยพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่ได้ให้ทุนและให้การสนับสนุนส่งไปศึกษา ณ ต่างประเทศแก่บุคคลเหล่านั้นนั่นเอง ที่อาจจะมีความคิดว่ารัชกาลที่ 6 ทรงบิดพลิ้ว “ชะลอ” การพัฒนาการปกครองไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ที่คนหัวใหม่เหล่านี้เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ยิ่งไปกว่านั้นข้าราชการหัวสมัยใหม่เหล่านี้ยังปีนเกลียว คือไม่เข้าเป็นพวกด้วยกันกับขุนนางอาวุโส ที่รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์กลุ่มใหญ่ ที่ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบสมัยใหม่ดังกล่าว อย่างที่เคยคัดค้านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
สำหรับผู้เขียนที่สอนวิชารัฐศาสตร์เป็นวิชาเลี้ยงชีพมาเป็นเวลานาน เชื่ออย่างสุจริตใจตามหลักวิชาการว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักประชาธิปไตยเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทรงเป็น “นักเสรีนิยม” โดยแท้ ซึ่งแนวคิดของความเป็นเสรีนิยมนี้เป็นแนวคิดหลักของลัทธิประชาธิปไตยที่เติบโตขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงเปิดกว้าง” ทั้งในแง่การให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างที่เราได้ทราบมาในกิจกรรมเมืองดุสิตธานีนั้น ที่ทรงให้ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมคิดร่วมทำ มีส่วนร่วมในการดำเนินการ และการแสดงออกด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ หรือในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ที่เป็นแนว “นิติรัฐ” คือการปกครองที่ใช้กฎหมายเป็นหลักยึด ไม่ได้ยึดตัวผู้ปกครองหรือพระมหากษัตริย์นั้นอีกต่อไป แม้แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ทรงใช้กฎหมายเข้ามากำกับควบคุม อย่างเช่นการที่ทรงให้มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ก็มีขึ้นในรัชกาลนี้เพื่อให้การดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่ตามความพอพระราชหฤทัยขององค์พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์อย่างที่เคยเป็นมา
ว่ากันไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง “ผ่อนคลาย” ความ “อยู่เหนือ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ มา “อยู่ร่วม” กับชนชั้นนำทางการเมืองการปกครองในยุคนั้นนั่นเอง