กรณีพนักงานอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง และลุกลามไปถึงรัฐบาล สุมไฟประเด็นทางการเมืองในช่วงที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน แม้รัฐบาล โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือ และไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นับเป็นท่าทีที่ถูกต้องต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบจากกรณีนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้ ดังที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายผลกระทบจากคดีดังกล่าวที่มีต่อรัฐบาลเอาไว้ในเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ความตอนหนึ่งระบุว่า “...อย่าคิดว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องเล็กๆ แล้วจะผ่านไปเฉยๆนะครับ สุดท้ายหากไม่มีคำตอบที่มีเหตุมีผล แรงสั่นสะเทือนนี้จะตกแก่รัฐบาลโดยปริยาย ทำไมล่ะครับ ก็เพราะประชาชนมอบอำนาจให้รัฐบาลไปใช้อำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ ให้รัฐบาลไปดูแลการบังคับใช้กฎหมาย ให้ทุกคนได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกัน ตามหลัก ทุกคนเสมอภาคกันเมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมาย หากรัฐบาลไม่ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าเขาเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ก็เหมือนปล่อยให้ฝูงกระทิงเปลี่ยววิ่งเข้าไปในที่ประชุมครม.ล่ะครับ ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน” ซึ่งสอดคลองกับที่นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน 12 ด้านต่อรัฐสภา ไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยในข้อ 12 นั้นเป็นทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กระบวนการยุติธรรม ข้อ 2 ในประเด็นเกี่ยวกับปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า ส่งเสริมให้มีรูปแบบการลงโทษอื่น ที่ไม่ใช่โทษอาญาตามหลักสากล มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาระบบ แก้ไข บําบัด ฟื้นฟูผู้กระทําผิด ส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน พัฒนาประสิทธิภาพระบบการสืบสวนสอบสวน ด้านการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กําหนดมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงําใด ๆ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้ดําเนินงานสอดประสานกันอย่างเป็นองคาพยพ เพื่อให้สามารถจัดการกับข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทํางานเชิงรุก รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถอํานวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ และสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการนําเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมาย พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นธรรม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จําเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็ว