ความกังวลของ ผู้คนในสังคมที่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งที่นำหน้าโดย "กลุ่มนักศึกษา" จัดอีเว้นท์แฟลชม้อบขับไล่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กดดันให้ยุบสภาฯ บีบให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ส่อเค้าว่า ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ "กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ" ประกาศนัดหมายชุมนุมแสดงพลังปกป้อง "สถาบัน" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า จะเกิด "ม้อบชนม้อบ" หรือไม่ ? แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ เองยังอดที่จะเป็นห่วงไม่ได้ พร้อมทั้งขอร้องว่าอย่าเพิ่งมาเคลื่อนไหวในช่วงเวลานี้
"ขอร้องว่าอย่ามาเคลื่อนไหวในเวลานี้ เพราะจะทำให้เกิด 2 ฝ่ายซึ่งจะลุกลามบานปลายและทุกอย่างจะกลับไปสู่ที่เดิม ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ เรื่องนี้ต้องฝากไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ต้องหาทางออกในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีช่องทางอยู่แล้ว เรื่องการชุมนุมผมไม่ได้ห้าม แต่ต้องไปขออนุญาตตาม กฏหมายและอย่าทำผิดกฎหมายเท่านั้นเอง
แต่ถ้าถามว่าผมห่วงหรือไม่ต้องบอกว่าผมห่วงที่สุด เพราะเหล่านี้คือบุคลากรของชาติในอนาคตที่มีแรงขับเคลื่อนสูง แต่ต้องเข้าใจถึงวิธีการกระบวนการต่างๆในการแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน แต่ต้องไม่ละเมิดกฏหมายและไม่ก้าวล่วงผู้อื่นและไม่ไปใส่ร้ายในสิ่งที่ไม่บังควร ซึ่งตนได้กำชับไม่ให้มีการชุมนุมเผชิญหน้ากัน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทุกคนทุกฝ่ายให้ดีที่สุด" (29ก.ค.63)
จุดนัดหมายการชุมนุมแสดงพลังของกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ประกาศผ่านเพจเฟชบุค โดยออกเป็นแถลงการณ์ล่าสุดรวมแล้ว 2 ฉบับมีใจความสำคัญว่าต้องการออกมาปกป้องสถาบัน เพราะที่ผ่านมาการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ของกลุ่มนิสิตนักศึกษากลับมีการก้าวล่วงสถาบัน ทั้งการถือป้ายและกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มไม่อาจยอมรับได้
อย่างไรก็ดีภายในเวลาไม่เกินข้ามคืน บรรดาไอโอของฝ่ายสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาได้พากันค้นข้อมูลและเปิดหน้า เปิดตัว แกนนำกลุ่มอาชีวะ ฯ ว่าเป็นใครมาจากไหน ซึ่งพบว่า กลุ่มนี้เคยออกมาเคลื่อนไหว ทางการเมือง พบว่าเป็นกลุ่มที่เคยแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2558 รวมทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงพรรคการเมือง บางพรรคที่แกนนำเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างแกนนำกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ หรือผิดไปจากการที่พบว่ามีแกนนำที่ออกหน้า ในกลุ่มม้อบนักศึกษาหลายรายก็ล้วนแล้วแต่เคยร่วมทำกิจกรรมและมีแนวคิดทางการเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับ "คณะก้าวหน้า" และ "พรรคก้าวไกล"
สถานการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวนอกสภาฯ เวลานี้ อาจยังไม่ใช่ "จุดพีค" ที่สุด เพียงเพราะกลุ่มอาชีวะช่วยชาติใช้วิธีการออกแถลงการณ์ผ่านเฟชบุค ว่าจะออกมาแสดงพลัง เท่านั้น เพราะนี่อาจเป็นเพียงการ "เปิดเกม" ที่ทั้งฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้าน รัฐบาล ต่างจะต้องช่วงชิง ทั้ง "พลังเยาวชน" และ "ความได้เปรียบ" ในช้อตต่อไปต่างหาก
แค่กลุ่มอาชีวะช่วยชาติประกาศผ่านแถลงการณ์ว่าจะ "ขยับ" ความหวาดวิตก ความหวาดกลัวก็จะเริ่ม "ทำงาน" แต่หากเกิดการสถานการณ์ "ม้อบชนม้อบ" ขึ้นมาจริง ๆแล้วอาจจะ "เข้าทาง" ฝ่ายที่ออกมาขับไล่นายกฯ ไปสู่การยกระดับบีบให้ "ยุบสภา" เร็วกว่าที่คิด
การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งฝ่ายต้าน และฝ่ายหนุนรัฐบาล ยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลาง "ทีมเสนาธิการ" ของทั้งสองฝ่ายต้องประเมินเกมกันช้อตต่อช้อต วันต่อวัน !