บทที่ต้องถือว่าเป็น “บทพิเศษ” บทหนึ่งในหนังสือเล่มหนาที่ชื่อ “ชวน ภูเก้าล้วน : คนกระบี่ (2)” ซึ่งเป็นหนังสือที่บอกเล่าถึงชีวิตและผลงานของ คุณชวน ภูเก้าล้วน ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อเมืองกระบี่” เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับคุณูปการสำคัญอีกด้านหนึ่งของคหบดีเก่าแก่ผู้มีจิตวิญญาณแห่งการทำงานสร้างสรรค์(Creative)ท่านนี้ นั่นคือการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวชาวฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีเทศบาลเมืองกระบี่ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีที่ชื่อ คุณกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน เป็นตัวขับเคลื่อน ศูนย์แห่งนี้นอกจากจะเป็นสิ่งพิสูจน์ “ฝีมือ” และ “วิสัยทัศน์” อันก้าวหน้ากว้างไกลของท่านกีรติศักดิ์ นายก(คนปัจจุบัน)ของเทศบาลเมืองกระบี่แล้ว ก็มีคุณชวน ภูเก้าล้วน นั่นแหละที่เป็นผู้ให้ความคิดและแรงหนุนอยู่เบื้องหลัง ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญเกี่ยวกับ “ความจริง ความดี และความงาม” ด้าน ศิลปวัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ของจังหวัดกระบี่และกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน(Gluster) เพื่อเชื่อมโยงอดีตในฐานะเมืองที่เป็นแหล่งของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคเกือบ 4 หมื่นปีก่อน จนถึงการเป็นเมืองท่าสำคัญเมื่อกว่า 2,000ปี่ก่อน ถ่ายทอดผ่านเวลามาจนถึงยุคปัจจุบัน รวมทั้งเป็นสถานที่สร้างสรรค์และนำเสนอผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดอันดามัน ผ่านการสร้างสรรค์โดยศิลปินจากทุกแขนงและทุกกลุ่ม ศูนย์การเรียนรู้ที่อยู่ในความดูแล ผลักดัน และสร้างสรรค์โดยเทศบาลเมืองกระบี่แห่งนี้ ประกอบด้วยอาคารเรียนรู้ต่างๆมากมาย ได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน อาคารสาธิตการผลิตลูกปัดอันดามัน หอศิลป์อันดามัน อาคารแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และ โรงเรียนต้นกล้าอันดามัน ย่อมเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า เมืองกระบี่นั้นนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันเลอเลิศระดับโลกแล้ว ยังเป็น แหล่งบรรพชีวินที่สำคัญที่สุดของเมืองไทยและของโลกทีเดียว ย่างเช่น มีการค้นพบสุสานหอย 75 ล้านปีที่หาดนพรัตน์ธารา และหลังจากนั้นก็พบที่เก่าแก่กว่าเดิมอกหลายแหล่ง เช่นที่เขาพนมเบญจา 250 ล้านปี ในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ 280 ล้านปี ที่ อ.อ่าวลึกกว่า 270 ล้านปีเป็นต้น ที่สำคัญคือมีการค้นพบซากฟอสซิล “ลิงสยาม” หรือ “Siamopitacus eocaenus” ที่เหมืองถ่านหินอ.เหนือคลอง เป็นซากไพรเมตชั้นสูงของลิงที่เป็นต้นตอของมนุษย์ เก่าแก่ที่สุดในโลก (มากกว่าที่พบในแอฟริกา) คือมีอายุกว่า 35 ล้านปี เรื่องหลักฐานเกี่ยวกับภาพเขียนตามผนังถ้ำหินปูน และเพิงผาต่างๆนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะล้วนรู้ดีกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ถ้ำไวกิ้ง หรือถ้ำผีหัวโต ฯลฯ ในทางโบราณคดีนั้น เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าที่ อ.คลองท่อม ซึ่งมีวัดคลองท่อม (ปัจจุบัน) เป็นศูนย์กลางนั้น เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญมาก เป็นท่าเรือโบราณที่เต็มไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญหลายท่านสันนิษฐานว่าที่นี่เองคือเมือง “ตะโกลา” ในแผนที่โบราณอันโด่งดังของนายปโตเลมีชาวกรีกคนนั้น การพบลูกปัด เครื่องมือในการผลิตลูกปัด และหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่เมืองคลองท่อมนี่เองที่เป็นจุดก่อเกิด “พิพิธภัณฑ์ลูกปัดโบราณเมืองกระบี่” ขึ้นที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการต่อยอด โดยการสร้างกระบวนการผลิตลูกปัดย้อนยุคขึ้นใหม่ จนปัจจุบันสามารถผลิตลูกปัดโดยใช้วัสดุอย่างที่ใช้ผลิตในยุคโบราณ ใช้รูปแบบล้อของเก่า จนเกิดสินค้าโอทอปอันทรงคุณค่าคือ “ลูกปัดคลองท่อมยุคใหม่” จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไป กล่าวเฉพาะส่วนที่เป็น “หอศิลป์ร่วมสมัย” ในกลุ่มอาคาร “ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน” ในยุคปัจจุบัน นับว่าก้าวไกลไปจากจุดเริ่มต้นต้นเมื่อช่วงทศวรรษก่อนมาก จากการทำงานหนักอย่างไม่หยุดหย่อน แสดงความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาหอศิลป์แห่งนี้ให้ก้าวหน้าแบบ “ก้าวไกล” ของท่านนายกกีรติศักดิ์ และคุณชวน ภูเก้าล้วน และทีมงาน ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรทางด้านศิลปะชั้นแนวหน้าของไทยในทุกระดับ ทั้งระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ศิลปินระดับโลกอย่างเช่นอาจารย์ดร.ถวัลย์ ดัชนี ผู้เพิ่งล่วงลับ ถึงกับเคยกล่าวว่า เมืองกระบี่ต้องเป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ทางด้านศิลปะ อาจารย์ ดร.กมล ทัศนาญชลี “ศิลปิน 2ซีกโลก” ผู้มีชื่อเสียงและเกียรติภูมิใน ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความร่วมมือกับหอศิลป์กระบี่อย่างแนบแน่นมาโดยตลอด จนทำให้เมืองกระบี่สามารถจัดงานกิจกรรมใหญ่ๆทางศิลปะอย่างงาน “ศิลปะโลก” ในปีพ.ศ.2561 (2018) ลุล่วงไปอย่างเรียบร้อย มีชิ้นงานศิลปะร่วมสมัยทั้งของศิลปินระดับโลกและระดับชาติตกเป็นของเมืองกระบี่มากมายหลายชิ้น ฯลฯ ปัจจุบันจังหวัดกระบี่จึงได้รับการประกาศให้เป็น “เมืองศิลปะ” เมืองหนึ่งใน 3 เมืองของประเทศไทย! ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากก็คือการประดับเมืองด้วยงาน ประติมากรรมร่วมสมัย มีงานจากฝีมือของศิลปินระดับโลกและระดับ “ศิลปินแห่งชาติ” จำนวนมากค่อยๆปรากฏให้เห็นขึ้นตามจุดสำคัญๆของเมืองกระบี่ ที่เห็นชัดๆก็เช่น งานประติมากรรมในรูปแบบ “แอบสแตรคส์” ขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้ากลุ่มตึก “ศูนย์การเรียนรู้ฯ” ซึ่งเป็นฝีมือ (ก่อนเสียชีวิต) ของประติมากรลือนามอย่าง อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน นอกจากนั้นก็ยังมีงานประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติคนสำคัญๆ อย่างเช่น ผลงานของ อ.ดร.ถวัลย์ ดัชนี อ.ดร.กมล ทัศนาญชลี ศาสตราจารย์เดชา วราชุน และอีกหลายท่าน ในส่วนของห้องนิทรรศการศิลปะในหอศิลป์นั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีชิ้นงานอันโดดเด่นของบรรดาศิลปินแห่งชาติ ศิลปินระดับชาติ และศิลปินท้องถิ่นคนสำคัญๆให้ดูเพียบ! ทั้งในห้องนิทรรศการถาวรและห้องเฉพาะกิจ ด้วยเหตุฉะนี้แล นักท่องเที่ยวหรือผู้มีกิจต้องไปเมืองกระบี่ทั้งหลาย จึงไม่ควรจะพลาดการจัดเวลาไป “เยี่ยมชม” ของดีเมืองกระบี่ส่วนนี้ให้จงได้ บอกได้เลยว่า ถ้าท่านไปถึงที่นั่นแล้วมีโอกาสได้พบปะกับท่านนายก กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน หรือ ดร.โนรี เห้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการคนสวยของศูนย์การเรียนรู้อันดามันแห่งนี้ ท่านจะได้รับการต้อนรับและได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างเต็มอิ่มทีเดียวเชียว เชื่อเถอะ!!!!