รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนจาก “นักเรียน” มาเป็น “นักศึกษา” โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่เรื่องสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาเท่านั้น
“สังคมนักศึกษา” ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ ทั้งทางการคบเพื่อน การเรียนที่มีรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ยังไม่รวมถึงกิจกรรมสรวลเสเฮฮาปาร์ตี้สารพัดรูปแบบ ที่ผูกโยงไปถึงการคบเพื่อนสนิทที่รู้ใจ แม้แต่ความเป็นส่วนตัวที่ก็ยังคงอยู่
“ความวิตกกังวล” อาการที่เกิดขึ้นของนักเรียนที่ก้าวมาเป็นนักศึกษาที่ต้องปรับทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการเรียน ยิ่งโควิด-19 ยังไม่ผ่านพ้นไปสภาพการเรียนออนไลน์ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลให้มากขึ้น
“ความวิตกกังวล” เป็นสภาวะทางอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ที่ดำเนินอยู่ควบคู่กับชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนของบุคคลซึ่งตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งที่คุกคาม นำไปสู่การรับรู้ที่ผันแปรไปตามทรรศนะของบุคคลทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย
การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการรับรู้ การคิด และการตัดสินใจ ...นี่คือทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา
ความวิตกกังวลของผู้เรียน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนสถานะจาก “นักเรียน” สู่ “นักศึกษา” เท่านั้น แต่ระหว่างที่กำลังศึกษาเล่าเรียนซึ่งเป็นงานหลักแห่งวิถีชีวิต หากความวิตกกังวลที่มีอยู่เพิ่มระดับมากขึ้น ก็จะนำไปสู่ผลเสียต่อชีวิตของนักศึกษา อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญทั้งการเบื่อหน่ายต่อการเรียน และส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจในที่สุด
การศึกษาค้นคว้าเรื่องความวิตกกังวล มีมากว่า 100 ปี และยังมีความจำเป็นต่อสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะความวิตกกังวลเป็นสัญญาณอันตรายต่อจิตใจที่เกิดขึ้น
ยิ่งนักศึกษาใหม่วิถีชีวิตเปลี่ยน โอกาสจะประสบกับภาวะคับขันหรือภาวะอันตราย ซึ่งเกิดจากความกดดันที่เพิ่มขึ้นจากความไม่สบายใจในหลายเรื่องที่ทับถมเข้ามา โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่าจะมีสิ่งเลวร้ายหรืออันตรายเกิดขึ้นโดยบอกสาเหตุไม่ได้ ซึ่งอาจมีความรู้สึกกลัวรวมอยู่ด้วย
“การคิดล่วงหน้า”
“การคาดการณ์อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น” เป็นหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ เพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีไม่สำเร็จ
ลองมาดูข้อมูล “ความวิตกกังวล” ของนักศึกษาใหม่ ที่สวนดุสิตโพลสำรวจจากนักศึกษาใหม่ที่จะเข้าเรียนในปีการศึกษา 2563 แล้วพบ 10 ความวิตกกังวล ดังนี้
อันดับ 1 ค่าใช้จ่ายในการศึกษา 77.67%
อันดับ 2 ผลการเรียน 77.35%
อันดับ 3 การบ้าน/การทำงานกลุ่ม 77.30%
อันดับ 4 การวางแผนในการเรียน 75.86%
อันดับ 5 การแพร่ระบาดโควิด- 19 75.28%
อันดับ 6 การเอาใจใส่ของอาจารย์ 74.02%
อันดับ 7 การเรียน 73.58%
อันดับ 8 การเดินทางไปกลับมหาวิทยาลัย 70.15%
อันดับ 9 ที่พักอาศัย 68.92%
อันดับ 10 การคบเพื่อนใหม่ 68.82%
จากนักศึกษาใหม่ 478 คน ที่ตอบในประเด็น “ความวิตกกังวล” ทั้ง 10 อันดับนี้ ผลสะท้อนของข้อมูลจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานและบุคคลหลายฝ่าย ทั้งครอบครัวคือ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ มหาวิทยาลัย ทั้งผู้รับผิดชอบด้านกิจการนักศึกษาในภาพรวม จนถึง คณะ หลักสูตร และอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงสภาพสังคมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะรุ่นพี่ เพื่อนๆ ที่อยู่ใน "สังคมใหม่" ”ของนักศึกษา
อย่าลืมนะครับ! เริ่มต้นวิถีชีวิตของนักศึกษาใหม่ที่ดี ...เท่ากับว่าความสำเร็จในชีวิตนักศึกษาได้ไปแล้วกว่าครึ่ง
ช่วยกันปูทางแห่งความสำเร็จจากข้อมูลนี้ ดีกว่าจะมานั่งแก้ปัญหา และไม่ต้องเสียใจภายหลัง!