ในวงเสวนา “หยุดโควิดแต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” มีการนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ จากทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และความมั่นคง จึงขอนำใจความบางช่วงบางตอนมาเผยแพร่ดังนี้ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริรราชพยาบาล กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศนั้นจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพราะมีความเชื่อมโยงกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งแพทย์เองไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องรอให้ประเทศปลอดเชื้อก่อน แต่ดูว่ามีกลไกที่จะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดได้หรือไม่ ความสำเร็จในการแก้ปัญหา เกิดจากการดูแลใน 2 ส่วน คือ ดูแลผู้เสี่ยงติดเชื้อ กับดูแลผู้เสี่ยงแพร่เชื้อ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงไม่ควรมองด้านเดียวว่าขณะนี้ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องสุขอนามัย ทั้งการสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง แต่สังคมไทยต้องเข้าใจเรื่องการดูแลสุขอนามัยอย่างต่อเนื่องไป ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ อีกด้านหนึ่ง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาต้องดำเนินการทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขไปด้วยกัน และให้เข้ากับบริบทแต่ละช่วงเวลา อย่างตอนเหตุการณ์ระบาดรุนแรง ใช้ด้านสาธารณสุขนำ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ เมื่อควบคุมได้ และเริ่มผ่อนคลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ตลาดเงิน ภาคส่งออก เริ่มกลับมาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/63 ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว หากไม่เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 เพราะทุกอย่างชะงักงันไปหมด ส่วนการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมา คาดว่าน่าจะใช้เวลาเกือบ 2 ปี เพราะต้องยอมรับว่าโรคจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมีวัคซีน และการระบาดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศยังต้องใช้เวลา ซึ่งเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่พึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ยอดส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศราว 60% ของ GDP หดตัวรุนแรง อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนที่ยอดส่งออกหดตัวจากปีก่อนราว 40% จนต้องปรับลดเป้าลง 50% อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นมีหลายอุตสาหกรรมมีโอกาสเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องมือแพทย์ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ต้องมีการปรับตัว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ จากเดิมผลิตเสื้อกีฬาปรับเปลี่ยนมาเป็นชุด PPE ปรับรูปแบบการค้าเป็นออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสร้างงานในภูมิภาค เช่น การผลิตแอลกอฮอล์ ที่สามารถทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ได้ และอยากเสนอรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสมช. กล่าวว่า เจตนารมย์สำคัญของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) คือการดูแลสุขภาพของประชาชน และไม่ให้เกิดวิกฤตเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้มีมาตรการที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ต่อมาเห็นว่าควรต้องให้เศรษฐกิจเดินหน้าจึงได้ทยอยคลายล็อกเป็นระยะๆ โดยให้โอกาสกิจการและกิจกรรมที่เสี่ยงน้อยก่อนเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งล่าสุดเริ่มผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ แต่มีมาตรการดูแลไม่ให้มีการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาแพร่ระบาด และมั่นใจว่ามาตรการของ ศบค.สามารถควบคุมไม่ให้มีการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ ด้านนพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดการณ์การระบาดระลอกใหม่คงเกิดขึ้นแน่นอน เพราะมีแนวทางระบาดเหมือนโรคไวรัสทั่วไป ซึ่งต้องเพิ่มศักยภาพด้านสาธารณสุขในการตรวจ ติดตาม สอบสวนโรคให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ ทั้งนี้อย่าเพิ่งตั้งความหวังเรื่องวัคซีน หรือไปคิดว่าเชื้อมาจากต่างประเทศ คนไทยต้องปรับวิถีชีวิตอยู่อย่างสะอาดเพิ่มมากขึ้น หมั่นล้างมือ ไม่พูดคุยขณะกินอาหาร ชำระล้างร่างกายสม่ำเสมอ และไม่ไปในที่อโคจรคือแหล่งที่มีคนแออัด